เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันมาก น้ำไหลแรงตลอดปี อยู่ในเขตรักษาพันธุ์อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตประมาณ 3 กม. เนื่องจากการเดินทางไปชมน้ำตกแต่ละชั้นบางครั้งต้องเดินผ่านสายน้ำตกแต่ละชั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
ตามความจริงต้องออกเสียงว่า "ทีลอชู" และเป็นคำนามในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "น้ำตก" ชื่อ "ทีลอซู" เป็นความพยายามแปลความหมายทีละคำ โดย "ที" หรือ "ทิ" แปลว่า "น้ำ" "ลอ" หรือ "ล่อ" แปลว่า "ตก" แต่ "ชู" ไม่มีความหมายใกล้เคียง ดังนั้น จึงมีความพยายามทำให้เป็นคำที่มีความหมาย เนื่องจาก "ซู" แปลว่า "ดำ" จึงนำไปสู่การเรียกว่า "ทีลอซู" และแปลว่า "น้ำตกดำ"
ทีลอซู ได้รับคำกล่าวขานถึงว่าเป็นน้ำตกที่สวยงาม และมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน ระหว่าง 1 มิ.ย. - 31 พ.ย. ปริมาณน้ำฝนที่มากจะเพิ่มปริมาณน้ำในลำธารทำให้สายน้ำตกกว้างใหญ่กว่าฤดูอื่น แต่เป็นช่วงที่ทางรถเข้าน้ำตกปิด เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทางและถนอมสภาพทางไม่ให้เสียหาย นักท่องเที่ยวอาจเลี่ยงใช้เส้นทางนี้ได้ โดยการซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวซึ่งจะเดินทางด้วยเรือยางและเดินป่าอีกราว 12 กม.แต่หากมาท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว - ฤดูร้อนระหว่าง 1 ธ.ค. - 31 พ.ค. ก็สามารถใช้ทางรถยนต์เข้าน้ำตกได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เที่ยวได้สะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเที่ยวแบบไปกลับหรือพักค้างแรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้น้ำตกทีลอซู เป็นหนึ่งในเก้าตะวัน ตามโครงการมหัศจรรย์เมืองไทย 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน โดยมีจุดเด่นคือ "มหัศจรรย์รุ้งกินน้ำที่น้ำตกทีลอซู"
ประวัติน้ำตกทีลอซู
ทีลอซู ได้รับการค้นพบโดยพรานชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาล่าสัตว์ ก่อนที่ ตชด.ได้บินเข้ามาสำรวจในพื้นที่และได้พบน้ำตกทีลอชู ต่อมากรมป่าไม้จะประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ อ. ปรีชา อินทวงศ์ พาบุคลากรของนิตยสารท่องเที่ยวแคมปิง เข้าไปสำรวจ น้ำตกทีลอซู ก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่ท้าทายของนักเดินทาง "ทีลอซู" หรือออกเสียงตามภาษาภาษาปะก่าหญอว่า "ที-หล่อ-ชู" ที แปลว่า น้ำ, หล่อ แปลว่า ไหล และ ชู แปลว่า ทิ้มแทง (หล่อ-ชู เป็น กิริยา หมายถึง การไหลลงมาอย่างแรงของน้ำปะทะกับพื้นเบื้องล่าง) ดังนั้นจึงแปลว่าน้ำตก (บางท่านบอกว่าแปลว่า น้ำตกดำ คำว่า "ดำ" ไม่ได้ออกเสียงว่า ซู แต่ออกเสียงคล้ายๆกัน ไม่รู้จะเขียนเป็นอักษรไทยอย่างไร เพราะเสียงนี้ไม่มีในภาษาไทย ต้องออกเสียงให้ฟังนะครับ ถึงจะแยกความแตกต่างได้) น้ำตกนี้ซ่อนอยู่ในหลืบผาอันกว้างใหญ่ สายน้ำเกิดจากห้วยกล้อทอซึ่งมีแดนกำเนิดอยู่บนดอยผะวี แล้วไหลลงแม่น้ำแม่กลองที่ ต. แม่ละมุ้ง อ. อุ้มผาง
การค้นพบที่กล่าวถึงเป็นการพบของคนไทย จากงานของ ประชา แม่จัน ในหนังสือ "อุ้มผาง เบื้องหลังธรรมชาติ" เขียนถึง บริเวณที่ตั้งแคมป์ทีลอชู เป็นบ้านเก่าชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เรียกว่า "ว่าชื่อคี" บริเวณที่จอดรถเป็นที่นาเก่าของชาวบ้านที่นี่ การที่เป็นบ้านร้างเพราะชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านโขะทะเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ชาวปกากะญอที่นี่รู้จักน้ำตกทีลอชูมาช้านานแล้ว