สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ชลบุรี
สวนสัตว์เปิดเขาเขียวตั้งอยู่เลขที่ 235 หมู่ที่ 7 ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สวนสัตว์เป็นบริการสาธารณะ ซึ่งรัฐพึงดำเนินการ เพื่อให้บริการแก่สังคมและประชาชนด้านต่างๆ ในอดีตแนวคิดในการทำสวนสัตว์จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนด้านนันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจเป็นหลัก แต่ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาความเจริญก้าวหน้าของโลก นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ พร้อมกับทำความเสื่อมทรามเข้ามาด้วย ความเสื่อมทรามอย่างหนึ่งคือ การคุกคามชีวิตสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมซึ่งธรรมชาติสร้างสรรมาพลโลกเพิ่มขึ้น อาวุธมีประสิทธิภาพการทำลายสูง สารเคมีเป็นพิษถูกคิดค้นขึ้นนำมาใช้ระบบการคมนาคมเข้าถึงท้องถิ่นป่าอันห่างไกลได้สะดวกขึ้น ความต้องการ พื้นที่เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้มีการทำลายป่าเขา และสัตว์ป่าลงอย่างมากมาย ปริมาณ และความหลากของสิ่งมีชีวิตลดจำนวนลงในแต่ละวัน ซึ่งเราไม่สามารถ จัดเก็บรวบรวมได้หมด ฉะนั้นบทบาทของสวนสัตว์ในปัจจุบัน จึงมิได้มีเพียงแต่การบริการด้านนันทนาการเท่านั้น หากจะต้องสามารถช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่า สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้ เพื่อประชาชนจะได้มีส่วนร่วม เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งด้วย
สวนสัตว์เมื่อวันก่อน
นับจากวันนี้ย้อนหลังไปเป็นเวลา 100 กว่าปีที่ "สวนสัตว์" หรือ "ZOO" ได้พัฒนาขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นความต้องการของมนุษย์โดยแท้ ซึ่งให้ความสำคัญและช่วยกันสืบทอดแนวความคิดที่ดีนี้มาโดยตลอดกล่าวกันว่าในอดีตสัตว์ป่าหลายชนิดได้รับความสนใจ และถูกรวบรวมกักไว้ที่เลี้ยงจากที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ ด้วยลักษณะเฉพาะของสัตว์นั้น ทำให้ประชาชนอยากเห็น และศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้น แต่ด้วยวิชาการทางด้านการจัดการเลี้ยงสัตว์ป่ายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร สัตว์ป่าจึงมีชีวิตอยู่ได้ในที่เลี้ยงเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อสัตว์ตายไปก็หามาใหม่ด้วยการจับมาจากธรรมชาติโดยตรง หลายชีวิตได้สูญเสียไปกับเหตุการณ์นี้มาไม่น้อยกว่าจะถึงวันนี้
สวนสัตว์สมัยใหม่
องค์ประกอบร่วมของการดำเนินกิจการสวนสัตว์สมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก เพราะว่ามีเป้าหมายของการอำนวยความประโยชน์ให้แก่สังคมมากขึ้น ซึ่งนอกจากสวนสัตว์จะมีศักยภาพในการจัดให้มีการแสดงสัตว์จากทั่วทุกมุมโลกแล้วยังจะต้องเพิ่มสาระความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นด้วย สวนสัตว์ฯ จะต้องมีเงินกองทุน จำนวนมากในการดำเนินงานศึกษาวิจัยสิ่งเหล่านี้ ซึ่งควรที่จะได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากองค์กรทุกองค์กรสวนสัตว์ฯจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นในฐานะหน่วยงานผู้รณรงค์ในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และธรรมชาติ ต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรสัตว์ป่าจะไม่สูญพันธุ์ไป มีความเป็นอยู่ที่ดีในสวนสัตว์ และมีอายุยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ สวนสัตว์จำนวนมากทั่วทุกประเทศมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดวิทยาการแก่กัน นักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ มีโอกาสมากขึ้นที่จะมาเที่ยวพร้อม ๆ กับการมาศึกษาหาความรู้ ทั้งในส่วนแสดงสัตว์ และศูนย์บริการข้อมูล ความรู้ที่สวนสัตว์จัดไว้ให้เฉพาะ
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว วันนี้
คือหน่วยงานที่มีบทบาทในสังคมมากขึ้น สวนสัตว์ฯ จะเป็นทั้งธนาคารสัตว์ป่าหายาก เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย ส่วนจำลองและห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติ ซึ่งควรแก่การมาศึกษาและพักผ่อนยิ่งนัก โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมีผลอย่างมากต่อสถานภาพของการนำทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งรัฐควรจะต้องเอาใจใส่ดูแลการใช้ประโยชน์นี้ให้ถูกต้อง รวมตลอดทั้งความต้องการด้านการพัฒนาจิตใจของประชาชนที่จะต้องเผชิญกับความบีบคั้นทางสังคมในภาวะเช่นนี้ ฉะนั้นในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงมุ่งหวังที่จะมีโอกาสในการรับใช้สังคม สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนที่ดีขึ้นได้ในด้านการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยในโครงการพัฒนาสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะที่ 2 ได้มีการปรับปรุงงานบริการและสถานที่ต่างๆ ให้มีความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน มากขึ้น
ความเป็นมา
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีได้เริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2497 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ.2497 ในช่วงแรกหลังจากการก่อตั้งองค์การสวนสัตว์เป็นต้นมา องค์การสวนสัตว์ มีสวนสัตว์เพียงแห่งเดียว คือ สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) การก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิตต้องประสบการขาดทุนในช่วงสิบปีแรก แต่ต่อมาก็สามารถให้บริการประชาชนสนองนโยบายรัฐบาลได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นตลอดมา จนกระทั้งองค์การสวนสัตว์ได้จัดตั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2517 และสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2520 ปัจจุบัน องค์การสวนสัตว์ได้จัดสร้างโครงการสวนสัตว์นครราชสีมา และโครงการสวนสัตว์สงขลา เมื่อ พ.ศ. 2534
ในปี พ.ศ.2512 คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ได้พิจารณาเห็นว่า สวนสัตว์ดุสิต มีพื้นที่น้อยแต่ปริมาณสัตว์มากเกินสมควรทำให้สัตว์อยู่กันอย่างหนาแน่น แออัด ในสิ่งแวดล้อมที่ผิดไปจากธรรมชาติ จึงเป็นผลให้การขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า สัตว์ป่าที่หายากบางชนิดไม่มีการขยายพันธุ์เลย จึงมีมติรับหลักการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขา-เขียว และเขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินการสร้างสวนสัตว์-เปิดเขาเขียวโดยทางองค์การได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2516
ปี พ.ศ. 2517 องค์การสวนสัตว์ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่ฟื้นฟูสภาพป่าก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและได้ระบายสัตว์จากสวนสัตว์ดุสิตมาปล่อยเลี้ยงให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียง ธรรมชาติในพื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 10 ตัว คือ เก้ง กวางดาว เนื้อทราย และกวางป่า และได้เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2521 และในปี 2527 องค์การสวนสัตว์ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ขยายเนื้อที่ดำเนินการของสวนสัตว์เพิ่มขึ้นอีก 2,500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนขยายเพิ่มนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว และเขาชมภู่ รวมพื้นที่ดำเนินการ 3,000 ไร่
ปี พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางมากขึ้น มีระยะเวลาดำเนินงานรวม 5 ปี งบประมาณทั้งสิ้น 589.062 ล้านบาทพร้อมกันนี้ได้รับการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น อีก 2,000 ไร่ รวมพื้นที่เป็น 5,000 ไร่
วัตถุประสงค์การจัดตั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
เพื่อดำเนินงานด้านการเลี้ยง และสงวนพันธุ์สัตว์ รวมทั้งสร้างสมดุลย์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
เพื่อบริการด้านการศึกษา-วิจัย การนันทนาการ การพัฒนาจิตใจประชาชน เยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เพื่อพัฒนาสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
ลักษณะการดำเนินการของสวนสัตว์
สวนสัตว์ฯ ได้จัดลักษณะการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ส่วนแสดง คือ ส่วนหรือพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ป่านานาชนิด ลักษณะคอกสัตว์แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมโดยให้มีสภาพที่ได้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด เพราะส่วนที่สวนสัตว์ จะเปิดให้ผู้เที่ยวชมสามารถเดินชมภายในได้อย่างใกล้ชิด เช่น สวนกวาง กรงนกใหญ่ และบริเวณเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ พื้นที่ประมาณ500 ไร่
2. ส่วนศึกษาและวิจัย คือส่วนหรือพื้นที่บริเวณกว้าง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม สภาพพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และฟื้นฟูของป่าหลายประเภทเพื่อจะให้เป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่าในธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ทางด้านงานวิจัยจะเป็นพื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อันได้แก่ โครงการ นกกาบบัว - นกกระทุงคืนสู่ธรรมชาติ โครงการฝึกสัตว์เพื่อนำกลับสู่ธรรมชาติ โครงการศึกษา - วิจัยพันธุ์ไม้ป่า เป็นต้น ดังนั้นบริเวณนี้จะไม่อนุญาติให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเที่ยวชม มีพื้นที่รวมประมาณ 4,000 ไร่
3. ส่วนบริการ เป็นพื้นที่นอกเหนือจากส่วนแสดงและส่วนศึกษาวิจัย จัดไว้ให้บริการผู้เที่ยวชมโดยมีส่วนของสถานที่สำหรับพักผ่อน รับประทานอาหารกลางแจ้ง อ่างเก็บน้ำ ศูนย์ให้การศึกษา สวนสัตว์เด็ก สวนพฤกษศาสตร์,ศาลาเอนกประสงค์ และส่วนแสดงความสามารถของสัตว์ พื้นที่รวมทั้งสิ้น ประมาณ 500 ไร่
การเดินทางเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 130 กม. จากถนนสายบางนา - ตราด มีทางแยกที่สามารถเข้าถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้ 3 ทาง
ที่ตลาดหนองมน ตรงทางแยกเข้าสถานีพัฒนาที่ดิน ข้างธนาคารกสิกรไทยสาขาหนองมนมาผ่านทางสนามกอล์ฟบางพระ ถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทางประมาณ 18 กม.
ที่ตลาดบางพระ ตรงทางแยกเข้าสนามกอล์ฟบางพระถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทางประมาณ 18 กม.
ทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ บริเวณตรงข้ามวัดเขาพระบาท ระยะทางถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ประมาณ 19 กม.
ทางหลวงหมายเลข 36 ทางพิเศษหมายเลข 7 มีทางแยกเข้ามาถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทางประมาณ 7 กม.
ถนนจากปากทางแยกทั้ง 4 แห่ง จนถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นถนนลาดยาง ตลอดข้างทางจะมีป้ายแสดงเส้นทางเข้าสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ทุกระยะ