การทำสวนทุเรียนของชาวลับแล
เดิมทีนั้นจะปลูกรวมในสวนลางสาดและผลไม้อื่นๆ โดยนำเมล็ดไปปลูกไว้ตามพื้นที่ข้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยโดยการขว้างหรือยิงเมล็ดลางสาดและเมล็ดทุเรียนด้วยคันสูน (อุปกรณ์ในการล่าสัตว์อย่างหนึ่งคล้ายธนู) โดยการดัดแปลงสายคันสูนให้สามารถใช้ยิงเมล็ดทุเรียนหรือลางสาดขึ้นไปบนภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาดินที่มีความชุ่มชื้นตลอดปี ซึ่งทุเรียน-ลางสาดก็จะงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเองไม่มีระยะการปลูกที่เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ของที่อื่นแต่จะปล่อยให้ต้นทุเรียน-ลางสาดเติบโตขึ้นเอง ตามธรรมชาติโดยชาวบ้านจะไม่โค่นต้นไม้อื่นๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสวนทุเรียน-ลางสาด ของเมืองลับแลเป็นสวนผลไม้ที่แปลกไม่เหมือนที่อื่น คือ จะขึ้นอยู่ตามภูเขาทั่วไป ทั้งไหล่เขาจนกระทั่งถึงยอดเขา มองขึ้นไปก็จะเห็นเหมือนกับป่าไม้ตามธรรมชาติ และเป็นสวนผลไม้ที่ ไม่มีรั้วกั้น แต่ชาวบ้านจะรู้กันเองว่าตรงนี้ตรงนั้นใครเป็นเจ้าของ ลักษณะเช่นนี้จึงอาจถือได้ว่ามีเพียงที่นี้เท่านั้นเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนที่นี่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการดูแลสวนแบบธรรมชาติหรือชีววิธีโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมีที่ตกค้างในผลไม้และเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเอาไว้อีกทางหนึ่งด้วย
การเก็บผลทุเรียน
การเก็บทุเรียนพื้นเมืองของชาวลับแลในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่แล้วจะปล่อยให้ทุเรียนที่สุกร่วงจากต้นลงมาเองแต่ที่ตัดมาบ่มก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุที่ว่าต้นทุเรียนขึ้นอยู่ตามภูเขาสูง ทุเรียนบางต้นก็สูงใหญ่มากจนชาวบ้านไม่สามารถปีนขึ้นไปตัดผลได้ โดยก่อนที่จะถึงหน้าทุเรียนแก่และสุกร่วงลงสู่พื้นนั้นชาวสวนจะแผ้วถางหญ้าและต้นไม้เตี้ยๆ ที่ขึ้นรกอยู่ตามพื้นดินด้านล่างให้เตียน บางสวนที่มีพื้นที่ชันมากเจ้าของสวนก็จะสานไม้ไผ่เป็นแผงทำเป็นรั้วกั้นไว้ไม่ให้ผลทุเรียนกลิ้งเข้าไปในพื้นที่สวนของคนอื่น และก็จะสะดวกในการเก็บด้วยเพราะทุเรียนเมื่อร่วงจากต้นแล้วก็จะกลิ้งมารวมกันที่บริเวณแผงไม้ไผ่ที่สร้างกั้นเอาไว้ ซึ่งชาวบ้านจะมาเก็บเอาในตอนเช้าตรู่โดยจะนำทุเรียนใส่เข่งหรือตะกร้าแล้วหาบลงจากสวนไปขายในหมู่บ้านหรือในตลาด ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางทั้งภายในจังหวัดอุตรดิตถ์และต่างจังหวัดมารับซื้อไปขายต่อ