พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ติดกับป้อมวิชัยประสิทธิ์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ป้อมวิชาเยนทร์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชวังนี้ ถูกขนาบด้วยวัด 2 วัด คือ วัดโมฬีโลกยาราม และวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประวัติ
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ.2310 พระองค์ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ การที่ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พลที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ อยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุม เส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี และตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำหากเพลี่ยงพล้ำก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวง ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์)
อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม(คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด(วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวังต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ทรงสร้างพระบรม มหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า "พระราชวังเดิม" นับแต่นั้นมา
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม
1. อาคารท้องพระโรง เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยพระที่นั่งองค์ทิศเหนือและองค์ทิศใต้เชื่อมต่อกัน ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดงานประกอบพิธีสำคัญ รับรองบุคคลสำคัญและประชุม
2. พระตำหนักเก๋งคู่ หลังใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนและไทย หลังคาทรงจั่วแบบจีน ลวดลายจีนที่ตกแต่งจั่วและคอสองเขียนสีแบบปูนเปียก ส่วนหลังเล็กเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1-2
3. พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นตึกแบบอเมริกันถือเป็น " ตำหนักแบบตะวันตกองค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ " สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับอยู่ที่นี่
4. ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลักษณะอาคารเป็นทรงไทยแบบผสมแบบตะวันตก ตัวอาคารยกสูงมีใต้ถุนล่าง
5. ป้อมวิชัยประสิทธิ์ เดิมชื่อ " ป้อมวิไชยเยนทร์หรือป้อมบางกอก " สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นแม่กองก่อสร้างป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปี 2199-2231
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้สร้างพระราชวัง บูรณะป้อมและสร้างกำแพงเมือง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า " ป้อมวิชัยประสิทธิ์ "
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดเขตของพระราชวังกรุงธนบุรีให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองอยู่ภายนอกพระราชวัง รวมทั้งให้รื้อตำหนักแดงซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระราชวังเดิม ไปปลูกสร้างให้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นสูง ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย มาประทับที่ พระราชวังเดิม เนื่องจากพระราชวังเดิมและกรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลรักษา