ตลาดน้ำดอนหวาย มีลักษณะตัวอาคารเป็นอาคารไม้เก่า ๆ ตั้งแต่อดีตสมัยรัชกาลที่ 6 ที่อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน มีพ่อค้า แม่ค้า นำสินค้า และอาหารมาจำหน่ายในบริเวณวัดดอนหวาย มีตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรที่วัดดอนหวายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. และมีเรือบริการนำเที่ยวชมทิวทัศน์ของสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน
ตลาดเริ่มบูมตั้งแต่ปี 42-43 สมัย IMPข้าวของแพง คนไทยประหยัด จึงค้นหาสินค้าราคาประหยัด
เดิมทีเป็นเพียงตลาดภายในชุมชนที่ไม่ได้ใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงโด่งดังอะไร ในยุคที่การสัญจรและการค้าขายทางน้ำยังคับคั่ง ชาวบ้านจะพายเรือแจวมาซื้อหาข้าวปลาอาหาร ที่ตลาดดอนหวายกันทุกวัน จนมาชั่วเวลาหนึ่ง สีสันการค้าขายของชุมชนแห่งนี้ก็จืดจางลงไป เนื่องจากมีการสร้างถนนวัดไร่ขิง ตัดผ่านหน้าชุมชนเมื่อประมาณ 30ปีที่แล้ว เป็นเหตุให้ชาวบ้านหันไปซื้อหาของจากนอกชุมชนแทน เพราะการเดินทางสะดวกขึ้น พ่อค้าแม่ขายในตลาดดอนหวาย จึงต้องโยกย้ายแหล่งทำมาหากินไปอยู่ที่อื่น ตลาดดอนหวายเกือบจะกลายเป็นตลาดร้าง มีร้านค้าอยู่ไม่ถึง 10 ร้านที่ยังคงยืนหยัดค้าขายอยู่
จนมาวันหนึ่ง ประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา เมื่อทีมงาน "เที่ยวไป กินไป" จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นำทีมโดย พลเอก โอภาส โพธิแพทย์ ได้เดินทางไปรับประทานเป็ดพะโล้ที่ร้านนายหนับ และตีพิมพ์เรื่องราวเป็ดพะโล้รสอร่อยของร้านนายหนับ และบรรยากาศตลาดดอนหวายสู่สาธารณชน ตั้งแต่วันนั้นก็เสมือนว่า ตลาดดอนหวายได้เกิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น ตลาดดอนหวายก็เต็มไปด้วยผู้คนนับร้อยที่ต้องการมาพิสูจน์ความเอร็ดอร่อยของอาหารชนิดต่าง ๆ และชื่นชมบรรยากาศเก่า ๆ ที่นับวันจะหายากขึ้นทุกที พ่อค้าแม่ขายที่เคยย้ายไปค้าขายอยู่ที่อื่น เมื่อรู้ข่าวว่าตลาดดอนหวายกลับมาคึกคักอีกครั้ง ต่างก็พร้อมใจกันกลับมาค้าขาย ณ ตลาดเดิม พ่อค้าแม่ค้าจากที่ไกล ๆ เช่น อยุธยา ปทุมธานี ระยอง ฯลฯ ก็นำสินค้ามาจำหน่ายด้วย จำนวนร้านค้าจึงเพิ่มมากขึ้น สินค้าก็หลากหลายไปกว่าแต่ก่อน ประกอบกับรายการโทรทัศน์ และสื่อชนิดต่าง ๆ ทยอยกันทำข่าวเกี่ยวกับอาหารบ้าง เกี่ยวกับตลาดบ้างไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ช่วยประชาสัมพันธ์อีกแรงหนึ่ง ตลาดดอนหวายจึงมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้นอกจากนักท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงแล้ว นักท่องเที่ยวจากจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป เช่น สุพรรณบุรี ระยอง ฯลฯ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็จะหาโอกาสแวะมาซื้อหาของกินอร่อย ๆ ที่นี่ แต่ที่มากสุด ก็เห็นจะเป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯนั่นเอง เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะระยะทางไม่ไกลมากนัก และถนนหนทางก็สะดวก มีแผ่นป้ายบอกทางเข้าตลาดดอนหวายอย่างเด่นชัด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน คือถ้าไม่มาซื้อเป็ดพะโล้ ก็ต้องมาซื้อขนมไทยซึ่งมีหลากหลาย หรือไม่ก็ห่อหมกปลาช่อน เพราะทั้งสามอย่างนี้เป็นอาหารขึ้นชื่อ ขนาดว่าถ้าใครมาตลาดดอนหวายแล้วไม่ได้ซื้ออย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้กลับไป ก็แสดงว่ามาไม่ถึงตลาดดอนหวาย ในตลาดยังมีของอร่อย ๆ อีกมายมายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ ทั้งน้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะพร้าวอ่อนที่หอมหวานน่าดื่ม บรรจุในตุ่มดินเผาใบเล็ก ๆ ทำให้เมื่อดื่มแล้วรู้สึกเย็นชื่นใจยาวนาน ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าหลังการเดินซื้อของได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีผักและผลไม้นานาชนิดจำหน่ายในราคาย่อมเยา โดยเฉพาะส้มโอ ผลไม้ขึ้นชื่อของนครชัยศรีที่เจ้าของสวนขนมาขายเอง จึงมั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพ และสามารถต่อรองราคากันได้
ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการรับประทานอาหาร ที่นี่เขาก็มีบริการล่องเรือชมบรรยากาศสองฟากแม่น้ำท่าจีนไปพร้อม ๆ กับการรับประทานอาหาร เป็นระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ หรือถ้าไม่ต้องการรับประทานอาหาร เพราะอิ่มอร่อยไปเรียบร้อยแล้ว จะนั่งเรือชมบรรยากาศอย่างเดียวก็ได้ สนนราคาค่าโดยสารแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม และจะมีเรือออกเป็นรอบ ๆ ไป
สำหรับบรรยากาศทั่ว ๆ ไปของตลาดดอนหวายนั้น ในวันธรรมดาจะเงียบเหงา แต่พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ผู้คนจะแน่นขนัดชนิดเดินหลีกกันไม่พ้นทีเดียว
แม้ตลาดแห่งนี้จะไม่ใช่ตลาดที่ก่อตั้งและพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมา แต่การที่ตลาดแห่งนี้หวนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ก็เพราะความร่วมมือของคนในชุมชน ที่พยายามจะดำรงรักษาให้ตลาดแห่งนี้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป แต่ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวที่เชี่ยวกรากเช่นนี้
ชาวชุมชนจะรักษาตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีนแห่งนี้ไว้ได้นานสักแค่ไหน เป็นสิ่งที่คนในชุมชนต้องใคร่ครวญ และเตรียมรับมือด้วยเช่นกัน