ภายในป้อมพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบันมีสิ่งที่น่าสนใจคือ
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้มีความสง่างามยิ่ง โดยทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือ พระหัตถ์ถือกระบี่ นอกจากนี้ภูมิทัศน์โดยรอบยังแวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาชนิดดูร่มรื่น ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาของป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ. 122
พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบประจำการมีอายุการใช้งานนานที่สุดในกองทัพเรือเป็นเวลากว่า 60 ปี จนกระทั่งกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่ามีสภาพทรุดโทรมมากจึงปลดประจำการเพื่ออนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์
อุทยานฯ ประวัติศาสตร์ทหารเรือ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนม์มายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2545 สำหรับอุทยานฯ ประวัติศาสตร์ทหารเรือนั้น ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ จัดแสดงภาพความเสียหายจากการรบ และภาพสู่การพัฒนากองทัพเรือ นอกจากนั้นภายในอุทยานฯ ยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อาวุธยุทโธปกรณ์กลางแจ้ง รวมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของกองทัพเรือในการป้องกันประเทศตลอดจนบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งจัดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
- กลุ่มปืนเสือหมอบ ซึ่งเป็นปืนรุ่นแรกที่บรรจุทางท้ายกระบอก และเป็นอาวุธปืนหลุมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วง ร.ศ. 112 (พ.ศ.2436)
- กลุ่มปืนและอาวุธสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
- กลุ่มปืนและอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1, 2 ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
- กลุ่มปืนและอาวุธที่กองทัพเรือมีใช้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
- การจัดแสดงสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือในยามสงบ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยวสามารถชมป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระยาง นกนางนวล ปลาตีน ปูลม หรือปูก้ามดาบ ป้อมพระจุลฯ เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00–18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด ผู้เข้าชมต้องขออนุญาตจากกองรักษาการณ์บริเวณหน้าประตูป้อมฯ และแลกบัตรประจำตัวไว้ หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชมสถานที่ต้องทำหนังสือถึงพิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2475 6109, 0 2475 6259, 0 2475 8845 และ 0 2475 6357