ป้อมอัครา ป้อมปราการขนาดใหญ่ หรือเรียกได้ว่าเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ที่ห้อมล้อมด้วยป้อมปราการอันใหญ่โต สร้างขึ้นด้วยอิฐ โดยราชบุตรแห่งวงศ์ศิกวะ (Sikarwar) โดยหลักฐานแรกที่พบนั้นย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1080 จากการยึดครองของกองทัพของวงศ์กัสนาวิท (Ghaznavide) ต่อมาสุลต่านแห่งเดลี องค์ที่ 1 "สิกันดร โลดิ" (Sikandar Lodi) ได้ย้ายมาประทับและปกครองแคว้นที่ป้อมแห่งนี้แทนกรุงเดลี และเปรียบอัคราดั่งเมืองหลวงแห่งที่สอง
พระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปีค.ศ. 1517 โดยมีรัชทายาท คือ อิบราฮิม โลดี (Ibrahim Lodi) เป็นผู้ครองนครต่อ โดยยังประทับอยู่ที่ป้อมนี้เป็นเวลาถึง 9 ปีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในยุทธการแห่งปณิปัต (Battle of Panipat) ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการก่อสร้างพระราชวังภายในป้อมหลายแห่ง รวมทั้งบ่อน้ำต่างๆ และมัสยิดด้วย
พระเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ ซึ่งตีอัคราสำเร็จในปีค.ศ. 1553 และอีกครั้งหนึ่งในปีค.ศ. 1556 ต่อกองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร ภายหลังจากยุทธการแห่งปณิปัตในปีค.ศ. 1526 กองทัพโมกุลได้ยึดครองป้อมอัคราและยึดครองสมบัติอันมหาศาล รวมถึงเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามว่า "โกห์-อิ-นูร์" (Koh-i-Noor) สมเด็จพระจักรพรรดิบาบูร์ พำนักอยู่ในพระราชวังอิบราฮิม และสร้างขั้นบันไดลงไปในบ่อน้ำ หรือเรียกว่า "เบาลี" (Baoli) ต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิหุมายุน ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายในป้อมแห่งนี้ในปีค.ศ. 1530 และต่อมาได้ทรงพ่ายแพ้แก่เชอร์ชาห์สุรี (Sher Shah Suri) ในปีค.ศ. 1540 ป้อมอัคราจึงตกเป็นของเชอร์ชาห์สุรีจนกระทั่งปีค.ศ. 1555 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิหุมายุนได้ยกทัพกลับมาตีป้อมคืนได้สำเร็จ ต่อมาได้ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพของกษัตริย์ฮินดู พระนามว่า พระเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ (Hem Chandra Vikramaditya) ซึ่งมีชัยเหนือกองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิหุมายุน ภายใต้การนำของแม่ทัพอิซกานดาร์ คาน อุซเบ็ก (Iskandar Khan Uzbek) และยึดอัคราได้สำเร็จ ซึ่งนำไปสู่การมีชัยเหนือเดลีต่อจักรวรรดิโมกุลต่อมา ในที่สุดพระเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ ได้พ่ายแพ้แก่กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัรในยุทธการแห่งปณิปัตครั้งที่สองในปีค.ศ. 1556 แล้วทรงแต่งตั้งเดลี เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล ก่อนที่จะเสด็จนิวัติกลับอัคราในปีค.ศ. 1558
นักประวัติศาสตร์ส่วนพระองค์ อับดุล ฟาซัล (Abdul Fazal) ได้จดบันทึกว่าบริเวณสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของป้อมปราการที่สร้างจากอิฐ ซึ่งเรียกกันว่า "บาดัลการห์" (Badalgarh) ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม พระองค์จึงได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่โดยใช้หินทรายสีแดงที่ขุดได้จากเขตบาโรลี ในราชสถาน โดยทรงมอบหมายให้สถาปนิกออกแบบใหม่ตั้งแต่รากฐานขึ้นมาโดยใช้อิฐเป็นโครงสร้างด้านใน และปิดด้านนอกด้วยหินทรายสีแดง ด้วยแรงงานกว่า 8,000 คนซึ่งถูกเกณฑ์มาสร้างป้อมแห่งนี้ ป้อมอัคราจึงใช้เวลาถึง 8 ปี และเสร็จสมบูณ์ในปีค.ศ. 1573
จนกระทั่งถึงในรัชสมัยของพระราชนัดดาของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร ได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้ป้อมอัครานั้นมีรูปร่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยทรงโปรดให้สร้างอนุสรณ์สถานให้แก่พระมเหสีของพระองค์ คือพระนางมัมทัส มาฮาล ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่า "ทัชมาฮาล" ซึ่งทำจากหินอ่อนสีขาว ซึ่งเป็นพระราชนิยมในสมัยนั้น โดยอาคารต่างๆมักจะสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ตกแต่งด้วยทอง และอัญมณีหลากสี พระองค์ยังทรงให้ทำลายอาคารภายในป้อมบางแห่งทิ้ง เพื่อสร้างอาคารแบบใหม่ตามแบบพระราชนิยมอีกด้วย ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้ถูกจับให้สละราชสมบัติและคุมขังไว้โดยพระโอรสของพระองค์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซพ) ตามตำนานเล่าว่าพระองค์เสด็จสวรรคตในพระตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ (Muasamman Burj) บนหอคอยแปดเหลี่ยมที่มีระเบียงทำจากหินอ่อน โดยสามารถมองเห็นทัชมาฮาล
ป้อมอัครายังเป็นสถานที่ของสงครามในเหตุการณ์กบฏอินเดียค.ศ. 1857 ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดการปกครองของอินเดียโดยบริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย (British East India Company) และนำไปสู่การปกครองโดยขึ้นตรงกับสหราชอาณาจักร ซึ่งกินเวลายาวนานกว่าศตวรรษ
เครดิตข้อมูล วิกิพีเดีย