วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณขนาดเล็กเรียกกันว่า "วัดกลางนา" เพราะตั้งอยู่กลางทุ่งนา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงรวมชาวรามัญและพระสงฆ์รามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมการ ให้มาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่รอบวัด และให้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดเพื่อให้พระสงฆ์รามัญได้จำพรรษา แล้วตั้งนามใหม่ว่า วัดตองปุ โดยได้ลอกเลียนนามวัดและขนบธรรมเนียมของวัดในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี ซึ่งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์รามัญจำพรรษาอยู่มาใช้
ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ วัดตองปุ เป็นวัดของสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีแก่ทหารรามัญในกองทัพ ที่เป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่า หลังจากบ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกกับพม่าแล้ว ทรงสถาปนาวัดใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามเหตุการณ์ ซึ่งทำการรบเอาชนะพม่าได้ถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.2328-2330 ว่า วัดชนะสงคราม
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 13 ห้องเสา ไม่มีพาไล ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้ว หลังคาทำเป็นชั้นลด 3 ชั้น มุงกระเบี้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานหน้าต่างเป็นลายเทพพนมเหนือบานหน้าต่างเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ลวดลายพื้นหน้าบันแตกต่างกันคือ หน้าบันด้านหน้าลายพื้นเป็นลายเทพพนม ส่วนหน้าบันด้านหลังลายพื้นเป็นลายก้านแย่งใบเทศ ประดับกระจกสีปิดทอง ซุ้มประตู หน้าต่างซ้อนสองชั้น เป็นลายก้านขดปูนปั้นบานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล บานประตูด้านนอกเป็นไม้แกะสลักปิดทองลายก้านแย่ง บานหน้าต่างด้านนอกลงรักสีดำ ไม่มีลวดลาย ด้านหลังพระอุโบสถข้างหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล เจาะเป็นช่อง ๆ มีคันทวยรองรับชายคา โดยรอบพระอุโบสถเป็นลวดลายเถาวัลย์พันตลอดคันทวย ใบเสมาพระอุโบสถจะติดที่ผนังตรงมุมด้านนอกทั้ง 4 มุม และผนังด้านใน นอกจากใบเสมาติดผนังแล้วยังมีใบเสมาตั้งบนแท่นอีก 1 แห่ง หลังพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ใบเสมานี้เป็นใบคอดตรงเอว มีลายที่กลางอก 4 ใบ ตั้งบนฐานแก้วรองรับด้วยฐานบัวอีกชั้นหนึ่ง