ตามหลักฐานที่พบจารึกอยู่ในที่ต่างๆ มีอยู่ ๔ ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ, วัดดอนแก้ว, วัดพะยาว (พะเยา) ชื่อวัดทั้งหมดที่พบดูจะมี ๒ ชื่อ
ที่เกี่ยวกับประวัติของบ้านเมืองในอดีตที่ผ่านมา คือ ชื่อวัดพะยาว (พะเยา) และ ชื่อวัดปงสนุก
ด้วยเหตุการณ์เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๔ ทางเมืองนครลำปางและเมืองเชียงใหม่ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน เมืองเชียงแสนได้สู้รบต่อต้านเป็นสามารถ แต่สู้กำลังของเมืองลำปางและเชียงใหม่มิได้ เมืองเชียงแสนจึงแตก ทางกองทัพจึงได้กวาดต้องเอาชาวเชียงแสนลงมาสู่เมืองนครลำปาง ในชาวเมืองเชียงแสนเหล่านั้นได้มีชาวบ้านปงสนุก (เชียงแสน) รวมอยู่ด้วย
ส่วนชาวเมืองพะเยา เจ้าฟ้าเมืองพะเยา ได้อพยพขาวพะเยาหนีข้าศึกพม่า คราวเมืองพะเยาแตกลงมาสู่นครลำปาง ในช่วงเวลาใกล้เคียง
ชาวเมืองทั้งสองจึงถูกจัดแบ่งให้อยู่ทางฝั่งเวียงเหนือของเมืองนครลำปาง โดยเฉพาะบริเวณวัดศรีเชียงภูมิด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเชียงแสนและชาวเมืองพะเยา เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใหม่และไม่ทราบอนาคตของตนเอง แต่ก็ยังรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน จึงได้เอานามชื่อวัดและชื่อบ้านมาเรียกโดยชาวพะยาว (พะเยา) ก็เรียกวัดพะยาว บ้านพะยาว
ชาวเชียงแสนก็เรียก วัดปงสนุก บ้านปงสนุก (ปัจจุบัน วัดปงสนุกใน อ.เชียงแสน อันเป็นชุมชนเดิมของบ้านปงสนุกลำปาง ก็ยังมีอยู่
ตั้งอยู่บ้านหมู่ที่ 3 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นวัดโบราณมีอายุกว่า 500 ปี)
สำหรับชาวพะเยา พอถึง พ.ศ. ๒๓๘๖ เจ้าหลวงมหาวงค์ ขึ้นไปตั้งเมืองพะเยา เมื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว ครูบาอินต๊ะจักร จึงได้อพยพชาวพะเยากลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอน คงเหลือชาวพะเยาที่ไม่ยอมกลับ ไม่นานนักตรงกันข้ามกับชาวปงสนุก ไม่มีการอพยพกลับไป
ได้ยึดเอานครลำปางเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่สอง ดังนั้นชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านก็คงเหลือไว้เรียกขานกันเพียงชื่อเดียวว่า “ปงสนุก” ตราบเท่าทุกวันนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดปงสนุก แยกเป็น ๒ วัด ทั้งที่อาณาเขตก็ไม่กว้างขวางเท่าใด คือ วัดปงสนุกเหนือ และ วัดปงสนุกใต้ สาเหตุที่แยกคงจะมาจากพระสงฆ์ สามเณรในอดีตจำนวนมาก
จึงแบ่งกันช่วยดูแลรักษาวัด แต่ถึงอย่างไรทั้ง ๒ วัดนี้ก็ถือกันว่าเป็นวัดพี่วัดน้องอาศัยช่วยเหลือกันมาโดยตลอด