วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี เป็นวัดที่สวยงามตามลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาแบบผสมผสาน ที่หลวงพ่อมนตรีได้จำลองรูปแบบมาจากวัดสำคัญๆของภาคเหนือ และจากประเทศอื่นได้แก่ พม่า จีน และลาว โดยเลือกเอา จุดเด่นของแต่ละแห่งมารวบรวมไว้ที่วัดนี้ เป็นการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้มีลักษณะต่างจากวัดทั่วไป นอกจากจะนำเอาสุดยอดงานด้านพุทธศิลป์ของล้านนา ที่มีชื่อเสียงมารวมกันไว้ที่เดียวแล้ว ยังระดมช่างฝีมือชั้นยอดที่เรียกว่า"สล่า"ของภาคเหนือมาร่วมกัน ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยมีหลวงพ่อมนตรีควบคุม ออกแบบ และลงมือก่อสร้างด้วยตัวเองในส่วนที่เป็นงานชิ้นสำคัญๆ บ่อยครั้งที่มีผู้พบเห็นหลวงพ่อกำลังทำงานบนนั่งร้านหลังคาโบสถ์ หรือกำลังปั้นโครงพระพุทธรูปก่อนที่จะให้ช่างฝีมือดำเนินการต่อ ความสามารถในงานพุทธศิลป์ ได้รับการกล่าวขานจากผู้พบเห็นเป็นอันมาก
พิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุของหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้มากมาย เช่นพระพุทธรูปต่างๆ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือและภาพเหตุการณ์ในอดีต
วัดแห่งนี้ ได้รวบรวมความสุดยอดของศิลปะล้านนาไว้ถึง 11 แห่ง ที่นำมาประยุกต์สร้างโบสถ์วิหาร และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ได้แก่
- ซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ จากวัดพระธาตุลำปางหลวง
- ซุ้มประตูด้านตะวันออก จากวัดพระธาตุดอยสุเทพ
- ซุ้มประตูด้านตะวันตกจากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ซึ่งวัดนี้สร้าง จากช่างฝีมือเชียงใหม่ที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชแห่งลาวเป็นผู้นำ ไปสร้าง
- ฐานพระอุโบสถรูปซิกแซก วังประทับพระยามังราย จ.เชียงราย
- ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก วิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
- ปั้นลมลวดลายเก่าศิลปะทางเหนือ จากวัดต้นเกวน อ.สเมิง เชียงใหม่
- นาค 7 เศียร แบบขอม / นางอัปสรปูนปั้น จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
- หอไตร จากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
- หอระฆัง จากวัดพระธาตุหริภุญชัย
- กุฏิหลังใหญ่สร้างจากไม้สักทองจากบ้านไทยสิบสองปันนาประเทศจีน
- พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสนจากวัดพระธาตุนอ(หน่อ) ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา