วัดมหาวัน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของคนเชียงใหม่ในสมัยก่อน ตำนานเกี่ยวกับการสร้างวัดมหาวันว่า เป็นวัดที่สร้างในสมัยของพระเจ้ากาวิละเมื่อครั้งที่พระองค์ได้ทรงกอบกู้เอกราชคืน หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามายาวนานถึง 200 ปี
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2338 หลังจากที่สร้างวัดแล้ว พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อสังเกตุจากด้านนอกของวัดจะมีกำแพงล้อมทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะทางแนวกำแพงทางด้านหน้าของวัดจะมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่าอยู่ 4 ซุ้ม มีสิงห์คู่อยู่ด้านหน้าประจำแต่ละซุ้ม
ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวัดมหาวัน เมื่อเดินเข้ามาในวัดจะสังเกตุเห็นพระอุโบสถเก่าแก่ ด้านหน้ามีลวดลายปูนปั้นฝีมือของช่างชาวล้านนาที่ประดิษฐ์ลวดลายได้อย่างวิจิตรบรรจง ประตูไม้ด้านหน้าของพระอุโบสถแกะสลักลวดลายพุทธประวัติ
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปประธานนี้คงเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาผสมเชียงแสน เพราะไม่ว่าจะมองทางด้านไหนก็คล้ายกับพระสิงห์
เพียงแต่ว่าพระประธานของวัดมหาวันมีขนาดองค์เล็กกว่าพระสิงห์จากวัดพระสิงหวรมหาวิหารเท่านั้น
สิ่งที่เรียกว่าสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาภายในวัดได้มากก็คือ พระเจ้าโต หรือ วิหารหลวง ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระเจ้าโต" พระเจ้าโต เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลปกรรมแบบพม่า ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของคหบดีชาวพม่าที่ชื่อ พ่อเลี้ยงหม่องปึ๊ด ซึ่งเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำสัมปทานไม้สักใน ภาคเหนือจากบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ภายหลังจากที่พ่อเลี้ยงหม่องปึ๊ดได้แต่งงานกับนางคำหอม ซึ่งเป็นลูกสาวของนายตุ้ยและนางปั๋น ชาวเชียงใหม่ซึ่งเป็นศรัทธาของวักมหาวัน จนเมื่อกิจการการทำไม้ของพ่อเลี้ยงปึ๊ดหม่องเจริญรุ่งเรืองขึ้น ท่านจึงได้สร้างวิหารหลวงและพระเจ้าโต ตลอดจนได้ทำการบูรณะซ่อมแซมกำแพงซุ้มประดับตลอดจนรูปปั้นต่าง ๆ ในแบบศิลปกรรมพม่า เมื่อปี พ.ศ.2349 ว่ากันว่าพระเจ้าโตของวัดมหาวันนี้มีอายุเกือบ 200 ปี