วัดโขด (วัดทิมธาราม) มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ อาทิเช่น วัดโขด (ทิมราชธาราม) หรือ วัดโขด (ทิม ทราราม) กล่าวกันว่าที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะพระยาระยอง ผู้เป็นเจ้าเมืองนั้นมีนามเดิมหรือนามจริงว่า “ทิม” เป็นผู้สร้างวัดนี้ แต่ชาวบ้านทั่วๆไปเรียกกันสั้นๆว่า “วัดโขด” อันเนื่องมาจากวัดนี้มีที่มาจากที่ตั้งที่อยู่บนโขดทรายติดกับแม่น้ำระยอง ตอนท้ายเมืองหรือแถบชานเมืองในสมัยก่อน อยู่คู่กับเมืองระยองมากกว่า 500 ปีมาแล้ว จากปากคำที่บอกเล่าสืบกันมา แจ้งว่าวัดโขดนี้สร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2007 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 2031) แต่มีพระภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งบอกว่า ทางกรมศิลปากรแจ้งว่าวัดโขดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2113 รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระบรมราชชนกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกปีหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าอาศัยสิ่งใดเป็นหลักฐานอ้างอิง อย่างไรก็ตาม วัดนี้ก็มีอายุไม่น้อยกว่า ศตวรรษแล้ว โดยทางวัดขาดการดูแลรักษา ถูกทิ้งรกร้างปล่อยให้ปรักหักพัง จนถาวรวัตถุเก่าแก่คู่กับวัดมาแต่เดิมแทบไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย ประกอบกับอุโบสถเก่าทั้งเล็ก คับแคบ และทรุดโทรม จนไม่สามารถทำสังฆกรรมได้ ต้องสร้างใหม่ขึ้นเมื่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 (แล้วเสร็จบริบูรณ์ในปี 2528) ศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต โอ่อ่า และบรรดากุฏิเสนาสนะทั้งหลายเป็นของสร้างใหม่ทั้งหมด จนเป็นเสมือนวัดใหม่สร้างขึ้นบนพื้นที่ของวัดเก่าจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถหลังเก่าวัดโขด
ภายในวัดโขด (ทิมธาราม) มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีโบราณล้ำค่าอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่า ที่อยู่ทางทิศตะวันออกมุมใต้สุดของวัด ไกลออกไปจากศาลาและโบสถ์หลังใหม่ ปัจจุบันมิได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมใดๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดโขดหลังเก่านี้น่าจะเป็นฝีมือของจิตรกรท้องถิ่น เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นภาพทศชาติชาดกที่ผนังด้านนอกหน้าอุโบสถด้านทิศตะวันออก ตรงหน้าพระประธาน มีภาพปางมารวิชัยเขียนไว้ด้วย แต่เลือนรางมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดโขด (ทิมธาราม) นี้ พระนคร สนฺตินคโร อายุ 78 ปี ผู้ดูแลอุโบสถหลังเก่าแจ้งว่ากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่จะต้องอนุรักษ์ไว้แล้ว
สมุดภาพจิตรกรรม
สมุดภาพจิตรกรรมเก่าแก่ เป็นสมบัติทางศิลปกรรมล้ำค่าอีกสิ่งหนึ่งของวัดโขด มีลักษณะเป็นสมุดข่อยหรือสมุดไทยแบบโบราณ ภายในมีภาพลายเส้นของตัวพระ นาง ลิง ยักษ์ มีอยู่ทั้งหมดด้วยกันรวม 7 เล่ม เป็นภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา 2 เล่ม และสมัยรัตนโกสินทร์อีก 5 เล่ม เข้าใจว่าน่าจะเป็นสมุดภาพตำราเกี่ยวกับนาฏศิลป์ โขน ละคร และการฟ้อนรำ
หลวงพ่อขาว
เป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพ็ชร (พระบาททั้งสองไขว้กัน) พระเกตุตูมรูปดอกบัว หน้าตักกว้าง 2.40 เมตร (95 นิ้ว) สูงจากฐานสุดยอดพระเกตุ 3.15 เมตร (123 นิ้ว)มีพระพุทธรูปสาวกนั่งคุกเข่าพนมมืออยู่สองข้างองค์หลวงพ่อ ประดิษฐานอยู่ในวิหารไม้ด้านทิศเหนือของโบสถ์เก่า ไม่มีผู้ใดทราบว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.ใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่สภาพชำรุดทรุดโทรมมาก องค์พระเป็นสีขาวเพราะก่อสร้างและทำด้วยปูนขาว ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” ต่อมาในปี 2511 มีผู้ศรัทธาร่วมกันบริจาคทำการบูรณะ ทั้งวิหารและอัครสาวกจึงดูเหมือนของใหม่ จากข้อสันนิษฐานพบว่า พระพุทธรูปองค์นี้อาจเป็นพระประธานประจำอุโบสถเดิมของวัด ทราบว่าเมื่อทำการบูรณะได้มีการขุดดินลงไปได้พบหินศิลาก้อนใหญ่ 2 ก้อน ไม่ทราบว่าจะเป็นลูกนิมิตหรือไม่ ถ้าเป็นหลวงพ่อขาวก็อาจจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี (เพราะวัดโขด นี้มีประวัติสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2007 ถ้านับจนถึงปัจจุบัน ก็จะมีอายุรวม ประมาณ 540 ปี) โดยหลวงพ่อขาวอาจเป็นพระประธานประจำวิหารเหนือของพระอุโบสถ