ศาลหลักเมือง
ศาลหลักเมือง เป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความร่วมมือร่วมใจกันด้วยความศรัทธาความสามัคคี ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่สิงสถิตของเทพารักษ์ พระเสื้อเมือง และพระทรงเมือง ซึ่งจะปกป้องรักษาและปัดเป่าภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีศาลหลักเมืองเพียงแห่งเดียว การสร้างศาลหลักเมืองจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนจะดำเนินการสร้างได้
จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดที่เก่าแก่จังหวัดหนึ่ง จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีชุมชนอาศัยอยู่แต่สมัยทวารวดี แต่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัย พระมหาธรรมราชา เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2127 กล่าวถึงแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยในสมัยกรุงธนบุรีได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปีพุทธศักราช 2359 ได้ย้ายตัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง มาตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา ได้ให้ความเห็นไว้ว่าน่าจะมาจากชื่อ “บางทองคำ” และ “แม่น้ำประคำทอง” ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเมืองตั้งอยู่ในที่ลุ่มมีลักษณะคล้ายอ่างและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จึงถือเป็นเมืองเงินเมืองทอง