ศูนย์ศิลปาชีพนี้มุ่งฝึกอาชีพเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ วิชาที่สอนให้แก่เกษตรกรได้แก่
-
การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช
-
การแกะสลัก
-
การจักสาน
-
การทำตุ๊กตา
-
การทำดอกไม้ประดิษฐ์
-
การทำเครื่องเรือน
-
การทอผ้า ผลิตภัณฑ์จากผ้า การย้อมสี
-
ช่างเชื่อมและเครื่องเคลือบดินเผา
ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้วจะส่งไปจำหน่ายที่ร้านจิตรลดาทุกสาขาทั่วประเทศ
ประวัติ
พ.ศ. 2523 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต. ช้างใหญ่ อ. บางไทร ในเขตที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรม พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มุ่งฝึกงานช่างฝีมือแบบศิลปะไทยโบราณให้แก่เกษตรกรที่สนใจฝึกอาชีพเป็นรายได้พิเศษจากช่วงที่ว่างจากงานเกษตร โดยทางศูนย์ฯ มีผู้ชำนาญงานช่างแขนงต่าง ๆ มาฝึกสอน เมื่อสามารถผลิตงานได้แล้ว ศูนย์ฯ จะรับซื้อผลงานไปจำหน่าย เปิดอบรมศิลปาชีพรุ่นแรกเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเมื่อวันที่7 ธ.ค. 2527
ปัจจุบันมีกว่า 20 แผนก เช่น แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า แผนกทอผ้าลายตีนจก แผนกเครื่องเรือนไม้ เป็นต้น อบรมปีละสองรุ่น รุ่นละ 500 คน ใช้เวลาอบรม 6 เดือน โดยให้ที่พัก อาหาร สวัสดิการ และเบี้ยเลี้ยง ผลงานที่ผลิตได้นอกจากจะจำหน่ายที่ศูนย์ฯ แล้ว ยังส่งไปจำหน่ายที่ร้านจิตรลดาซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ และส่งออกต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ ภายในบริเวณศูนย์ฯ มีจุดเด่นอื่นๆอีก เช่น
หมู่บ้านศิลปาชีพ
- เปิดทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น. มีพื้นที่กว้างขวางหลายสิบไร่ ภายในแบ่งเป็นหมู่บ้านไทยของแต่ละภาค โดยมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่ นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมงานศิลปะหัตถกรรมของแต่ละภาคแล้ว ยังสามารถชมความงามของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของแต่ละท้องถิ่นด้วย
สวนนก
- เปิดเวลา 09.00-19.00 น. ปิดวันจันทร์
- ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท เป็นกรงนกขนาดใหญ่สองกรง ภายในมีนกหายากกว่า 100 ชนิด เช่น นกชาปีไหน นกกาฮัง นกเงือกรามช้าง นกสาลิกาเขียว นกยูงไทย เป็นต้น ภายในกรงจัดสภาพแวดล้อมให้คล้ายคลึงธรรมชาติ เช่น สภาพป่า น้ำตก ธารน้ำ เป็นต้น มีระบบไฟล่อแมลงซึ่งเป็นอาหารของนก ในวันที่ร้อนจัดมีระบบฝนเทียมให้ความชุ่มชื้น ดำเนินการโดยมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมไม่ควรให้อาหารสัตว์ หรือส่งเสียงดัง
วังปลา
- เปิดเวลา 10.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร มีตู้แสดงพันธุ์ปลาสองตู้ ตู้ใหญ่ขนาดความจุ 1,400 ตัน อีกตู้เป็นตู้ทรงกลมขนาด 600 ตัน มีปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด ทั้งปลาพื้นเมืองใกล้สูญพันธุ์ และปลาที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น กระเบนราหู ปลาตะเพียนทอง ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาบึก ปลากดดำ เป็นต้น ภายในอาคารยังมีภาพเขียนปลาไทยพร้อมคำบรรยาย
ชมขั้นตอนการผลิตงาน
- เปิดเวลา 09.00-14.30 น. เว้นวันจันทร์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตงานที่อาคารฝึกอบรมศิลปาชีพ ซึ่งประกอบด้วยแผนกต่าง ๆแต่ห้ามส่งเสียงรบกวนสมาธิการทำงาน หรือจับต้องผลิตภัณฑ์ บางแผนกห้ามถ่ายภาพ
ซื้อผลิตภัณฑ์
- วันธรรมดาเปิดเวลา 09.00-17.00 น. วันหยุดราชการเปิดเวลา 09.00-18.00 น. ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ มีจำหน่ายที่ศาลาพระมิ่งขวัญ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ทรงไทยประยุกต์ สูงสี่ชั้น มีผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องแก้ว เครื่องเซรามิก ผ้าทอ เครื่องจักสาน รวมไปถึงงานเครื่องไม้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น บนชั้นสองเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการงานฝีมือชิ้นเยี่ยม
พระตำหนัก ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยโบราณ มีใต้ถุนสูง แวดล้อมด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และน้ำตกจำลอง บริเวณด้านหน้ามีประติมากรรมทองเหลืองซึ่งเป็นผลงานของศูนย์ฯ แห่งนี้ให้ชม