อนุสรณ์เรือหลวงประแสลำปัจจุบันที่เห็นนั้น เป็นเรือหลวงประแสลำที่ 2 เพราะในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี ประเทศไทยได้ส่งกองกำลังไปช่วยรบในนาม กองกำลังสหประชาติ เรียกว่า หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.) แต่เรือหลวงประแสลำแรกได้ประสบเคราะห์กรรมเกยตื้นที่ชายฝั่งประเทศเกาหลีเหนือ
หลังจากกองทัพเรือไทยสูญเสียเรือหลวงประแสไปเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2494 ทำให้ มส. เหลือเรือรบ ที่เข้าปฏิบัติการยุทธร่วมกับกองเรือสหประชาชาติอยู่เพียงลำเดียวคือเรือหลวงบางปะกง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจาขอซื้อเรือฟริเกต ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีขายให้โดยมีเงื่อนไขให้ใช้เรือดังกล่าวในการปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และให้ทัพเรือสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิค (U.S.Pacific Fleet) จัดเรือฟริเกตประจำการ 2 ลำ คือเรือ USS Glendale (PF 36) กับเรือ USS Gallup (PF 47) ขายให้ไทย ในราคา 861,946 เหรียญสหรัฐฯ เรือทั้งสองลำนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส ตามลำดับ
ใน 20 ตุลาคม 2494 ได้มีพิธีส่งและรับมอบเรือทั้งสองลำที่ท่า
USS_Glendalend และ USS_Gallup
เรือหมายเลข 12 ณ ฐานทัพเรือโยโกสุกะ โดยมีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น และเกาหลี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งมอบให้กับหัวหน้าคณะทูตไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับมอบในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ต่อมาเรือฟริเกตทั้งสองลำได้ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทยใน 29 ตุลาคม 2494
ภารกิจแรกของหลวงประแส ลำที่2 หลังจากเข้าประจำการในกองทัพเรือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2495 คือออกลาดตระเวนปิดอ่าวคุ้มกันเรือลำเลียง เรือบรรทุกน้ำมัน เรือกวาดทุ่นระเบิด ระดมยิงฝั่งเป็นครั้งคราว โดยมียุทธบริเวณตั้งแต่ท่าเรือ ปูซานฝั่งตะวันออก เรื่อยไปจนถึงวอนซานในเกาหลี ตลอดระยะเวลาประมาณ ๒ ปีเศษ เรือหลวงประแส ได้ออกปฏิบัติการตามภารกิจทางยุทธการรวม 32 ครั้ง ระยะเวลาประมาณ 300 วัน หลังจากที่ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2497 แล้ว เรือหลวงประแสยังคงวางกำลังอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2498 กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 2/257 ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย สำหรับกำลังทางเรือ กำหนดให้ถอนกำลัง พร้อมด้วยเรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงประแส กลับและให้เรือทั้ง 2 ลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบก ในระหว่างการเดินทางกลับด้วย
เรือหลวงประแส ลำที่ 2
ก่อนหมู่เรือ มส. จะเดินทางกลับประเทศไทยได้เข้าซ่อมทำที่อู่โยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2497 เนื่องจากเรือชำรุดทรุดโทรมในขณะออกปฏิบัติภารกิจ ในขณะที่เรือทั้ง ๒ ลำ กำลังเข้าซ่อมใหญ่ที่อู่ในฐานทัพเรือโยโกสุกะอยู่นั้น วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2498 เวลา 10.30 น. พันเอก ชัยรัตน์ อินทุภูมิ หัวหน้านายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ ได้นำ พันโท อำนวย โสมนัส ผู้บังคับกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๖ และ นาวาโท สงัด ชลออยู่ ผู้บังคับ มส. เข้าเยี่ยมคำนับและอำลา พลเอก ฮัล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังสหประชาชาติ ในโอกาสที่หน่วยทหารไทย ทั้งทหารบกและทหารเรือจะถอนกำลังกลับ พลเอก ฮัล ได้กล่าวบอกแก่ผู้บังคับหน่วยทหารไทยด้วยว่า ทหารไทย มีศักยภาพทางด้านการรบเป็นอย่างมาก พร้อมชมเชยความสามารถพร้อมกับมอบเกียรติบัตรชมเชยหน่วยทหารไทยและหนังสือ ชมเชย ซึ่งถือได้ว่า เรือหลวงประแสได้สร้างชื่อเสียงและศักยภาพ ทางด้านทหารของไทยมาแล้ว ในอดีต*
ปี พ.ศ.2537 กองทัพเรือได้ปลดประจำการเรือหลวงประแสเนื่องจากตัวเรือมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่คุ้มกับการซ่อมทำ ด้วยผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ให้นำไปใช้ในการฝึกภาคทางเรือของนักเรียนนายเรือแทน หลังจากนั้นไม่นาน เทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้เสนอโครงการก่อสร้างอนุสรณ์เรือหลวงประแส เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ระลึกถึงเกียรติประวัติของราชนาวีไทยในสมรภูมิ และเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นับแต่นั้นมาเรือประแสจึงถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปากน้ำประแสจนถึงปัจจุบัน