พระศรีพนมมาศ เดิมชื่อ "นายทองอิน" มีบิดาเป็นชาวจีน ชื่อ ตั้วตี๋ แซ่ตัน มีมารดาชื่อ นิ่ม เป็นชาวอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม พระศรีพนมมาศเกิดที่บ้านยางกะได เมืองลับแล เมื่อปี พ.ศ. 2404 เมื่อเล็กๆบิดามารดาได้ยกให้เป็นลูกของหลวงพ่อน้อย วัดป่ายาง หลวงพ่อน้อยได้ตั้งชื่อให้ว่า "ทองอิน" เมื่อมีอายุได้ 12 ปีบิดามารดาก็นำไปฝากวัดไว้โดยอยู่กับหลวงพ่อต้น วัดน้ำใส เพื่อให้เข้าศึกษาเล่าเรียน เมื่ออายุครบที่จะบวชได้อุปสมบทที่วัดน้ำใส ในเมืองลับแล 1 พรรษา แล้วสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ
อาชีพเริ่มแรกของนายทองอินคือการค้าขาย เริ่มต้นแต่หาบแร่ของไปขายยังชุมชนต่าง ๆ ในท้องที่อำเภอลับแล และบางครั้งก็ไปจนถึงอำเภอหาดเสี้ยว ซึ่งได้แก่อำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ทำงานเช่นนี้อยู่ 5 ปี ก็ได้เข้าทำงานเป็นนายอากรโรงต้มกลั่นอำเภอหาดเสี้ยว เป็นเวลานานถึง 10 ปี กิจการเจริญขึ้นเป็นลำดับ จนมีคนรู้จักและนับหน้าถือตาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น
นายทองอิน มีภรรยาหลายคน แต่ไม่มีบุตรเลยนอกจากจะมีบุตรบุญธรรม ซึ่งนำมาเลี้ยงไว้หลายคน เท่าที่พอจะสืบทราบมาได้ก็ เช่น ขุนอำไพพานิช (บุย สีหาอำไพ) (ซึ่งเป็นบิดาของ หลวงนิตย์เวชวิศิษย์ นายกฤษณ์ อินทโกศัย หลวงพรรณานิคมเขต นายบ้วน อินทชัยศรี และนายประวิทย์ ธรรมโกวิทย์)
นายทองอิน เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้ายิ่งกว่าคนอื่นในเขตเดียวกัน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และเมืองลับแลเมื่อวันที่ 23 ถึง 26 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2444 ทางอำเภอลับแลได้ตั้งพลับพลารับเสด็จบน ม่อนจำศีล นายทองอินได้เป็นหัวหน้าคนสำคัญในการรับเสด็จในครั้งนี้ โดยจัดขบวนแห่บั้งไฟ และปราสาทผึ้ง มีช้างแห่ไปในขบวนถึง 25 เชือก และมีการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง พระแท่นศิลาอาสน์ด้วย
ในการเสด็จประพาสจังหวัดอุตรดิตถ์และเมืองลับแลในครั้งนี้ นายทองอินได้จัด การรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งและได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วย ความจงรักภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบข่าวการได้ทำงานต่างๆ ซึ่งเป็นการทำประโยชน์ให้กับเมืองลับแล เช่น การสร้างถนน การสร้างเหมืองฝายของ นายทองอิน อีกทั้งทราบนิสัยของนายทองอินอีกด้วย ว่า เป็นคนดีราษฏรรักใคร่ นับถือมากสมควรที่จะได้ความชอบเป็นพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายทองอิน เป็น "ขุนพิศาลจีนะกิจ" พระราชทานนามถนนสายที่นายทองอินเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดสร้างเพื่อรับเสด็จว่า ถนนอินใจมี
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2447 นายทองอินได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "หลวงศรีพนมมาศ" ตำแหน่ง เจ้าเมืองลับแล ขึ้นตรงต่อเมืองพิชัย ถือศักดิ์นา 1000 ไร่ ได้บังคับบัญชาปลัดยกกระบัตรกรรมการเมืองและบรรดาราษฏรอยู่ในแขวงเมืองลับแลทั้งสิ้น
ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2451 นายทองอินได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระศรีพนมมาศ" ตำแหน่งนายอำเภอเมืองพิชัย ถือศักดิ์นา 1000 ไร่ ให้ทำหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการเมืองพิชัย ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นอำมาตย์ตรี ตำแหน่งเกษตรมณฑลพิษณุโลก ในราชทินนานเดิม
พระศรีพนมมาศ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน อันเนื่องมาจากโรคเบาหวานเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี พ.ศ. 2464 รวมอายุได้ 60 ปี โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2465 ณ ประรำพิธีซึ่งตั้งขึ้น ข้างบ้านพระศรีพนมมาศ โดย พระกัลยาวัฒนวิศิษฐ์ เป็นประธานการจัดงาน และพร้อมด้วยบุตรหลานและภริยาของท่าน
ผลงาน
การคมนาคม
ในขณะที่พระศรียังมิได้รับราชการ คือในขณะที่เป็นนายอากรสุราอยู่นั้น ได้เริ่มทำงานชิ้นสำคัญคือ การสร้างถนนจากลับแลมาถึงตลาดบางโพ โดยความร่วมมือ ของราษฏรคือถนนอินใจมี โดยที่มิได้ใช้เงินของทางราชการเลย นอกจากนั้นยังได้วางผังเมืองลับแล และตัดถนนอีกหลายสาย เช่น ถนนสายลับแล-หัวดง ถนนสายลับแล-พระแท่นศิลาอาส์น-ทุ่งยั้ง และถนนในซอยสายต่างๆในเมืองลับแล
การชลประทาน
เดิม ทีเดียวเมืองลับแลไม่มีน้ำที่จะอุดมสมบูรณ์อยู่ ได้ตลอดปีเหมือนทุกวันนี้ พระศรีพนมมาศได้เริ่มสร้างฝายหลวงขึ้น ในการสร้างฝายหลวงนี้ ได้ใช้กำลังของราษฏรแท้ๆ และมิได้รับงบประมาณจากทางแผ่นดินเลยท่านเกณฑ์แรงงานทุกคนทุกตำบลให้มาช่วย งานบ้านละ 1 คน โดยผลัดเปลี่ยนเวียนกันทำงานทุกคนต้งอพร้อมกันที่ฝายหลวงตั้งแต่เวลาตีห้า ทุกวัน ถ้าผู้ใดมาช้ากว่ากำหนดหรือขาดงาน ก็ต้องได้รับโทษหนักเบาตามสมควรแก่โทษานุโทษ เยี่ยงบิดากับบุตร ตัวท่านเองเป็นผู้ควบคุมงาน ท่านต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ และถือสังข์เป่าเป็นสัญญาณ ให้ชาวบ้านเตรียมตัวลุกไปทำงานทุกวัน จนได้รับสมญานานว่า "พระศรีทองสังข์" ด้วยความตั้งใจจริงของทาน ฝายหลวงก็สำเร็จตามความปรารถนาเดิม ฝายนี้สร้างด้วยไม้ นานปีเข้าก็ทานกระแสน้ำไม่ไหว จึงพังลงมาทำให้น้ำท่วมเมืองลับแลครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระศรีพนมมาศย้ายไปเป็นเกษตรมณฑลเมืองพิษณุโลก แล้วทางราชการได้เห็นความสำคัญของฝายนี้จึงได้สร้างเสริมต่อเติม ให้เป็นฝายที่ถาวรและใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
นอก จากนี้ท่านยังสร้างฝายอื่นๆ อีกเช่น ฝายสมเด็จ ซึ่งมีประวัติเล่ากันมาว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมือครั้งดำรงตำแหน่งเป็นมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จไปเยี่ยมเมืองลับแล ได้ทรงทำพิธีทิ้งดินก้อนแรก ถือเป็นปฐมฤกษ์ ในการสร้างฝายขึ้น และโปรดประทานนามว่า ฝายสมเด็จ และยังมีฝายอีกหลายแห่งด้วยกันเช่น ฝายหิน ฝายหนองแม่อิน หนองเด่นหมาก และฝายจอมแจ้ง นับว่าพระศรีพนมมาศ เป็นผู้วางรากฐานแห่งความเจริญในด้านการชลประทาน ให้แก่อำเภอลับแลเป็นคนแรก
ด้านการปกครอง
พระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอคนแรกที่ดำเนินการปกครอง แบบบิดาปกครองลูก เช่นในยามว่างทานจะออกเดินตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฏร์ แนะนำและตักเตือนให้ได้ปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง และในทางที่ชอบถ้าท่านพบราษฏรคนใดทำผิดท่านจะว่ากล่าวตักเตือนทันที
ด้านการศึกษา
เมื่อครั้งพระศรีพนมมาศยังมีอาชีพเป็นนายอากรสุรา ท่านมีความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาอยู่มา ท่านได้ตั้งโรงเรียนราษฏร์ส่วนตัวขึ้นเป็นแห่งแรกของอำเภอลับแล แต่ตั้งอยู่ได้เพียงห้าปี ก็ยุบเลิกไปเมื่อท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอลับแล ท่านได้ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานนามว่าโรงเรียนพนมมาศพิทยากร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2450
ด้านการอุตสาหกรรม
งานชิ้นสำคัญของพระศรีพนมมาศอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำไม้กวาดตองกง ท่านให้ราษฏรช่วยกันเก็บดอกตองกง ซึ่งมีอยู่มากมาย มาเก็บรวบรวมไว้ แล้วเรียกราษฏรตำบลแม่พูล ตำบลฝายหลวง และตำบลหัวดง มาตำบลละ 2 คน ให้มาฝึกทำไม้กวาดกับท่าน ท่นเป็นผู้หาส่วนประกอบมาให้เอง เมื่อฝึกทำจนเป็นแล้วก็เรียกราษฏรมาผลัดเปลี่ยนกันฝึกทำ จนทุกบ้านสามารถทำไม้กวาดตองกงชนิดนี้ได้หมด ท่านได้นำไม้กวาดทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถวายเจ้านายอีกหลายพระองค์ด้วยกัน ต่อมาพระศรีพนมมาศได้ประกาศให้ราษฏรทำไม้กวาดส่งไปขายเป็นสินค้าจนถึงปัจจุบันนี้