อุทยานประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ อยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ระหว่างทางไปน้ำตกเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายจากทางหลวง ประมาณ 600 เมตร ทางเข้ามีเสาธงเป็นสัญลักษณ์ เสาสีเขา 4 ต้น คือ กองทัพไทยทั้ง 4 ทัพ และ เสาสีน้ำตาล 9 ต้น แสดงถึง กองทัพทั้ง 9 ของพม่า แต่มี 5 กองทัพที่ยกมาทางหุบเขาที่ทุ่งลาดหญ้าแห่งนี้ ซึ่งมีกองทัพไทย ออกมาตั้งรับ แทนที่จะตั้งอยู่ในเมืองหลวงเหมือนเมื่อก่อน จนในที่สุดไทยเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
ประวัติโดยสังเขป คือ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียงสองปีกว่า ปราสาทราชวังท้องพระโรงยังเป็นเครื่องไม้อยู่ ส่วนพม่า ก่อนหน้านั้นก็มีเรื่องยุ่งๆ แย่งชิงราชสมบัติกัน สุดท้ายพระเจ้าปะดุงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าปะดุงองค์นี้เก่ง รวบรวมพม่าเป็นปึกแผ่นได้ เมื่อรู้ว่าไทยเพิ่งสร้างกรุงใหม่ ก็ดำริจะตีไทยให้ย่อยยับเหมือนเมื่อครั้งอยุธยา
จึงกรีธาทัพใหญ่ ไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน แบ่งเป็น ๙ กองทัพ ยกเข้ามา ๕ ทิศทาง เราจึงเรียกสงครามครั้งนี้ว่า ‘สงคราม ๙ ทัพ หรือ ‘ศึกเก้าทัพ
ทั้ง ๙ ทัพ ๕ ทิศทาง ว่ากันย่อๆ ดังนี้
ทิศทางที่ ๑ กองทัพที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ รวมเป็น ๕ กองทัพ ยกหนุนเนื่องกันเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ พระเจ้าปะดุงเป็นจอมทัพกองทัพหลวง คือ กองทัพที่ ๘
ทิศทางที่ ๒ กองทัพที่ ๙ ยกมาทางด่านแม่ละเมา มีหน้าที่ตัดหัวเมืองเหนือให้ขาดจากภาคกลาง ตีดะลงมาตามลำน้ำปิง ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ลงมาบรรจบกับทัพหลวง
ทิศทางที่ ๓ กองทัพที่ ๓ เคลื่อนจากตองอูมารวมทัพที่เชียงแสน (ของพม่า) ตีลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย พิษณุโลกแล้วลงมาสมทบทัพหลวง
ทิศทางที่ ๒ กองทัพที่ เคลื่อนมาทางด่านบ้องตี้ ทิวเขาตะนาวศรี (กาญจนบุรี) ตีราชบุรี ตัดหัวเมืองฝ่ายใต้
ทิศทางที่ ๕ กองทัพที่ ๑ มีทั้งทัพบกและทัพเรือ เข้าตีหัวเมืองฝ่ายใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไป
พระราชพงศาวดาร บันทึกเอาไว้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (วังหลวงและวังหน้า) ได้ทรงทราบข่าวศึก ดังนั้น จึงดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ มีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง (แต่ยังดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) เป็นต้น กับท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย พร้อมกัน ดำรัสปรึกษาราชการเป็นหลายเวลา...”
เมื่อทรงวางแผนต่อสู้เรียบร้อยแล้ว
ตรงนี้ ขอเน้นสักนิดว่า เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เจ้านายไทยต้นๆ
พระราชวงศ์นั้น มิได้ทรงเว้นว่างจากศึกสงคราม ท่านรบเก่งกันมาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว ท่านก็ยังต้องเหนื่อยยาก ทำศึกสงครามต่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น ต้องทำสงครามออกศึกถึง ๗ ครั้ง
ฝ่ายไทยในครั้งนั้นรวมพลแล้วได้เพียง ๕๓,๐๐๐ คน จัดแบ่งเป็นกองทัพไปสกัดทัพพม่าเพียง ๒ ทาง คือ
ทิศทางที่ ๑ เจ้าพระยาธรรมาธิบดี เป็นแม่ทัพหน้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นแม่ทัพหลวง พระยามหาโยธา คุมกองมอญ ๓,๐๐๐ คนไปขัดตาทัพที่ด่านกรามช้าง
ทิศทางที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร์ (กลับมาจากสงครามคราวนี้ได้เป็นกรมพระราชวังหลัง) เป็นแม่ทัพไปตั้งค่ายหลวงที่นครสวรรค์ พระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุทัยธรรม (บุนนาค) เป็นกองหลังตั้งค่ายอยู่เมืองชัยนาท
สรุปว่า แม้มีกำลังพลเพียง ๑ ใน ๓ ของพม่าในที่สุดฝ่ายไทยก็สามารถตีทัพพม่า ค่ายพม่าแตกได้ ทุกทิศทาง นับว่าเป็นศึกซึ่งเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ทีเดียว
จะขอเล่าถึงชัยชนะทางด้านเมืองกาญจนบุรีและราชบุรี ซึ่งพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ถึง ๕ ทัพ ตามที่มีผู้จดบันทึกเอาไว้ เป็นการประกอบดังนี้
“กองทัพหน้าพม่าล่วงเข้ามาที่ด่านกรามช้าง มีกำลังพลถึง ๑๑,๐๐๐ คน เข้าปะทะตีทัพ พระยามหาโยธา (ที่คุมกองมอญ ๓,๐๐๐ คน) ขัดตาทัพอยู่ ถอยหนีเข้ามาหาทัพหลวง ส่วนกองทัพพม่าหนุนเนื่องกันเข้ามา มาตั้งค่ายอยู่ท่าดินแดงวังหน้าจึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงยกพลออกตีค่ายพม่า รบกันเป็นสามารถล้มตายด้วยกันทั้งสองข้าง ในครั้งนี้วังหน้า ทรงมีพระราชบัณฑูรให้ทำครกและสากใหญ่ไว้ในค่ายหลวง ๓ สำรับ ดำรัสให้ประกาศแก่นายทัพนายกองและทหารทั้งปวงว่า ถ้าผู้ใดถอยหนีพม่าข้าศึกจะเอาตัวลงครกโขลกเสีย”
สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ ๑ นั้น ทราบกันดีว่าทรงห้าวหาญ ดุเด็ดขาด และพระทัยร้อน ถึงพวกพม่าพากันเรียกท่านว่า ‘พระยาเสือ ตั้งแต่รัชสมัยกรุงธนบุรี ว่ากันว่า หากพวกพม่าได้ยินว่า ‘พระยาเสือ เป็นแม่ทัพ กำลังใจก็ลดลงแล้ว
ในการศึกสงครามนั้น ท่าน ‘เอาจริง มิใช่แต่เพียงขู่
ครั้งนั้น ท่านดำรัสสั่งให้ พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี เป็นนายทัพกองโจร ถือพล ๕๐๐ คน มีปลัดทัพสองคน คือ พระยารามคำแหง พระยาเสนานนท์ ยกลัดป่ามาคอยซุ่มสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ อันเป็นช่องแคบ (พุไคร้นี้เคยไปมาแล้ว เป็นเขามีช่องแคบลับลี้เหมาะสำหรับซุ่มจริงๆ สมัยเมื่อตุลาคม ๒๕๑๖ เคยมีพวกนิสิตนักศึกษาไปหลบซ่อนอยู่)