สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดี และได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ชาวเมืองนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11–12 ทั้งนี้เนื่องจากกรมศิลปากรได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมากที่พงตึกเมื่อปี พ.ศ. 2470 เช่น ตะเกียงทองสำริดโรมัน พระพิมพ์ดินเผา พระนารายณ์สลักจากศิลา พระพุทธรูป ฯลฯ และต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ดร.เวลส์ ผู้แทนสมาคมค้นคว้าวัตถุโบราณจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางมาสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุเพิ่มเติมที่พงตึกและยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมากเมื่อสมัยพันปีมาแล้ว ปัจจุบันโบราณวัตถุบางส่วนที่ขุดค้นนำไปเก็บไว้ที่วัดดงสัก บางส่วนอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่กรุงเทพฯ
คำว่า "พงตึก" และพงตึกในอดีต
"พงตึก" แต่เดิมเป็นชื่อของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง คำว่า "พงตึก" พอสันนิษฐานจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าที่อาศัยในบริเวณนี้ ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนที่ริมแม่น้ำบริเวณตลาดพงตึก มีฐานสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นแนวยาวคล้ายฐานของอาคารที่กว้างใหญ่ อีกทั้งตลอดสองฝั่งแม่น้ำ จะเต็มไปด้วยกอพง กอหญ้ามากมาย จากข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "พงตึก" ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งที่พอจะนำมาอ้างประกอบกันได้ก็คือ ข้อความบางตอนจากหนังสือนิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่นที่เขียนไว้ โดยกล่าวถึงที่มาของคำว่าพงตึก คือ
"แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้งพงตึก
อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม
ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ
ว่าตึกพราหมณ์ของแผ่นดินโกสินราย
แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก
คนจึงเรียกพงตึกเหมือนนึกหมาย
ถึงท่าหว้าป่ารังสองฝั่งราย
กับเชิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือ"
จะเห็นได้ว่า จากบทนิราศนี้คำว่าพงตึก จะมีที่มาคล้ายกับคำเล่าสืบต่อของคนรุ่นเก่า ส่วนคำว่า"ตึกพราหมณ์" สันนิษฐานว่าอาจเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบ
พิธีทางศาสนาพราหมณ์ หรืออาจเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดยในประเด็นนี้เป็นการวิเคราะห์ของ
นักโบราณคดีที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบจากอายุของโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ค้นพบ ณ สถานที่แห่งนี้
การเป็นทางผ่านของเส้นทางคมนาคม
จากหลักฐานของการค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุพงตึก เมื่อ 15 กรกฎาคม 2470 เป็นแนวทางให้นักโบราณคดีสามารถสันนิษฐานถึงความเป็นมา
ของสถานที่แห่งนี้คือหมู่บ้านพงตึกเดิมเป็นแหล่งชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
กับดินแดนพม่าใช้สำหรับเดินทางไปมาและค้าขาย ในพ.ศ.2376 ครั้งสามเณรกลั่นเดินทางมานมัสการพระแท่นดงรัง ล่องเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลอง
บางหลวง คลองมหาชัย ออกแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ได้มาออกแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสงคราม และล่องเรือขึ้นไปตามแม่น้ำแม่กลอง ผ่านจังหวัด
ราชบุรี ผ่านโพธาราม บ้านโป่ง และพงตึก ก่อนจะถึงพระแท่นดงรัง
ส่วนพ่อค้าที่เดินทางมาจากยุโรปและอินเดีย ที่จะเดินทางต่อไปค้าขายประเทศจีน ที่ไม่ต้องการอ้อมแหลมมลายู ก็จะมาขึ้นบกที่ชายฝั่งพม่า แล้วเดินทาง
ทางบกมาที่ด่านเจดีย์สามองค์ และเข้าสู่แม่น้ำแม่กลองโดยเส้นทางนี้จะผ่านพงตึกก่อนไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อมาลงเรือที่อ่าวไทย ก็จะไปประเทศจีนได้ แม้ว่า
พงตึกจะอยู่ขึ้นไปทางเหนือ แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณที่เป็นทางผ่าน ในจดหมายเหตุของราชวงศ์ฮั่นได้กล่าวไว้ว่า " ในพ.ศ.663 พวกนักดนตรี และกายกรรมจาก T,S SIN (พวกตลก จำอวด ชาวกรีก โรมัน) ได้เดินทางจากพม่าไปยังจีนโดยทางทะเล เขาอาจผ่านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เดินทางตามสายน้ำแม่กลอง
แล้วมาลงเรือที่อ่าวไทยอีกต่อหนึ่งก็ได้"
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.thmk.police7.go.th