โสกผีดิบ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวน้อย หมู่ 8 ตำบลโสกนกเต็น อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เกิดในหมวดหินภูทอก อายุยุคครีเทเซียสตอนปลาย ซึ่งประกอบไปด้วยหินทรายเป็นส่วนใหญ่ วางตัวเอียงเทเล็กน้อยไปทางทิศเหนือ แสดงลักษณะโครงสร้างทางตะกอนวิทยาแบบชั้นเฉียงระดับ (Cross bedding)
โสกผีดิบมีลักษณะทางธรณีสัณฐานที่เกิดจากการผุพัง (Weathering) และ การกร่อน (Erosion) ได้หินรูปร่างแปลกตามากมาย มีลักษณะคล้ายลานหินตะปุ่ม ตะป่ำ และแท่งเสาหิน ลักษณะดังกล่าวเกิดจากการที่มีแรงมากระทำต่อเนื้อหินก่อให้เกิดรอยแยก
ป่าโสกผีดิบแห่งนี้ มีตำนานที่น่าสะพรึงกลัวและชวนขนหัวลุก ซึ่งชาวบ้านได้เลือกจุดเด่นดังกล่าวนี้มาทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีการจัดทำป้ายข้อมูลเพื่อเล่าถึงเรืองราวของป่าโสกผีดิบแห่งนี้ให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบ โดยที่ป่าโสกผีดิบ ตำนานได้เขียนไว้ว่า ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ.2480 ได้เกิดโรคห่าระบาดในหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้คนทยอยป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านทำพิธีทางศาสนาส่งดวงวิญญาณไม่ทัน จึงได้พากันนำศพมาทิ้งภายในโสกแห่งนี้ ซึ่งโสกเป็นภาษาอีสานแปลว่า สถานที่ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำจนกลายเป็นโสกหรือธารน้ำไหล กระทั่งมีการเรียกต่อๆกันมาว่าโสกผีดิบ