ปีชวด (หนู) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุศรีจอมทอง
ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
พระธาตุจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (กระดูกกระหม่อมเบื้องขวา) ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ บรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
บทสวดบูชาพระธาตุศรีจอมทอง
นะมามิ ติโลกะโมลี โลหะกุฏเฐ นะติฏฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ กิตติมันตัง มะโนระหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อังคะวะหะเย ปุเรรัมเม โกวิสารัคคะ ปัพพะเต สะหิเหมะคูหาคัพเภ ทักขิณะ โมลีธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา
ปีฉลู (วัว) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุลำปางหลวง
ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง เป็นที่ประดิษฐาน พระเกศา (เส้นผม) พระนลาฏ (หน้าผาก)และพระศอ (ลำคอ) ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วย พระเถระ 3 องค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่างๆ จนถึงบ้านสัมภะ การีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน นำไปบรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ด ศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะ จนเป็นวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีความงดงามและสำคัญในปัจจุบัน
บทสวดบูชาพระธาตุลำปางหลวง
ปายุตาภูตา อะนุรานุภาวา จิรังปติฏฐิโต สัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อันตุราภิเทยยา นิมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระกัสสะปัง นราตะ ธาตุโย เมฆิยะมหาเถระโร กัณณะธาตุฏฐะเปติ มหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโยฯ
ปีขาล (เสือ) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุช่อแฮ
ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ที่พักใกล้เคียง >> พระธาตุช่อแฮ
ตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879 -1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย "พระธาตุช่อแฮ" (คำว่า"แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ย่อมุม ศิลปกรรมแบบเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้าง ด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง
บทสวดบูชาพระธาตุช่อแฮ
เสยะยัง ธัชชัคคะปัพพะเต พุทธาธาตุ ปะติฏฐิตัง ปะสัน เนนะ อะหัง วันทามิ ทูระโตฯ
ปีเถาะ (กระต่าย) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุแช่แห้ง
ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตี๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง เป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุ และ พระบรมธาตุ ข้อพระหัตถ์(ข้อมือ) ข้างซ้าย จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียง แช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
บทสวดบูชาพระธาตุแช่แห้ง
ปายาตุภูตา อตุรานุ ภาวะจิรัง ปะติฏฐิตา นันทกัปปัฏฐานะปุระ เทเวนะคุตตา วะระพุทธาตุงจิรัง อะหัง วันทามิ ตัง ชินะธาตุง เสตะฐาเน อะหัง วันทามิ ทูระโตฯ
ปีมะโรง (งูใหญ่) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระสิงห์วรวิหาร
ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าผายู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1888 ต่อมาได้บูรณะในสมัยครูบาศรีวิชัย ราว พ.ศ. 2469 พระธาตุเจดีย์เป็นศิลปกรรมแบบ ล้านนา-หริภุญชัยผสมศิลปะลังกา ที่เน้นความงามเรียบง่าย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากทวีปลังกา
บทสวดบูชาพระธาตุวัดพระสิงห์
นะมามิ สิหิงคะพิมพัง สุวัณณะภิรัมมัง ลังกาละ ชาตัง โสภาภิโสภัง สะลาภิกันตัง นะมามิหังฯ
ปีมะเส็ง (งูเล็ก) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา (เจดีย์เจ็ดยอด)
ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ที่พักใกล้เคียง >> วัดเจ็ดยอด
พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังรายโปรดฯ ให้สร้างโดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดมหาโพธาราม” หรือ “วัดโพธาราม มหาวิหาร” เนื่องจาก มีพระเถระชาวลังกานาต้นศรีมหาโพธิ์ มาจากประเทศศรีลังกามาปลูกในบริเวณนี้ และถือว่าต้นศรีมหาโพธิ์เป็นโพธิบัลลังก์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ ของพระพุทธองค์ สำหรับพระเจดีย์เจ็ดยอด โปรดฯ ให้สีหโคตร เสนาบดี เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อจำลองรูปแบบเจดีย์ มาสร้าง ณ วัดแห่งนี้ โดยมีโพธิบัลลังก์ (ต้นศรีมหาโพธิ์) เป็นศูนย์กลาง
บทสวดบูชาพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์
ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยังอนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะเสฏฐัง จะตุตะถัง ระตะนะฆะรัง ปัญจะมัง อะชะปาลานิโครธัง ฉัฏฐังราชา ยะตะนัง สัตตะมัง มุจจะรินทัง อะหัง วันทามิ ทูระโตฯ
ปีมะเมีย (ม้า) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง
ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศพม่า พระเจดีย์ชเวดากอง
ที่พักใกล้เคียง >>พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง
เจดีย์นี้มีการต่อเติมมากมายหลายครั้ง ทำให้รูปแบบพัฒนาไปเรื่อยๆ ลักษณะสุดท้ายได้มีลักษณะเป็นศิลปะพม่าอย่างเต็มที่ และมีอายุร่วมสมัยทางศิลปะกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากเดิมที่เป็นงานศิลปะมอญ
บทสวดบูชาพระเจดีย์ชเวดากอง
ธัมภูทีเป วะระฐาเน สิงคุตตะเร มะโนรัมเม สัตตะระนะ ปะฐะมัง กะกุสันธัง สุวัณณะฑัณธัง ธาตุโย ฐัสสะติ ทุติยัง โคนาคะมะนัง ธัมมะกะระณัง ธาตุโย ฐัสสะติ ตะติง กัตสัปปัง พุทธะจีวะรัง ธาตุโย ฐัสสะต จะตุตะถัง โคตะมะ อัฏฐเกสะ ธาตุโย ฐัสสะติ ปัญจะมัง อริยะเมตเตยโย อนาคะโต อุตตะมังธาตุโยฯ
ปีมะแม (แพะ) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุดอยสุเทพ
ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1929 ในสมัยพญากือนา ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน ในครั้งนั้น ช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ ก็ร้องขึ้นสามครั้ง พร้อมกับทำทักษิณาวัตร (เดินเวียนขวา) สามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วโปรดฯ ให้ก่อพระเจดีย์ขึ้นสูง 5 วา ครอบลงไปด้วยเหตุนี้ จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้า เข้าไปในบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์ในปี พ.ศ. 2081 สมัยพระเมืองเกษเกล้า ได้โปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนาทองคำทำเป็นรูป ดอกบัวทองใส่บน ยอดเจดีย์ต่อมาเจ้าท้าวทรายคำราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ เป็นที่ปรากฎจนทุกวันนี
บทสวดบูชาพระธาตุดอยสุเทพ
สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถะลุงคัง อรัญญะธาตุ สุเทเว สัพพะ ปูชิง ตัง นะวะเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโยฯ
ปีวอก (ลิง) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุพนม
วัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ที่พักใกล้เคียง >>วัดพระธาตุพนม
พระธาตุพนม เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนิน ที่เรียกว่าภูกำพร้า ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระธาตุพนมสร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุ พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า พระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
บทสวดบูชาพระธาตุพนม
กะปะณะ คิริสมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรัง คะธาตุง สิริสา นะมามิฯ
ปีระกา (ไก่) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุหริภุญชัย
ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ที่พักใกล้เคียง >> วัดพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระหม่อม หน้าอก นิ้วพระหัตถ์ พระเกศาธาตุ และพระธาตุย่อยอีกเต็ม บาตรหนึ่งวัดพระธาตุหริภุญชัย ตามประวัติกล่าว ว่าสร้างขึ้นใน รัชสมัยของพระเจ้าอาทิตย์ ราช กษัตริย์นครหริภุญชัยราว พ.ศ.1586 โดยสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นพระราชฐาน ของพระองค์ซึ่งต่อมาได้พระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัด เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏ ให้พระองค์ ได้ทอดพระเนตรขึ้นในบริเวณดังกล่าวต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนี้อีกหลายครั้ง ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ. 1986 ได้โปรดให้เสริม พระธาตุเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ยอดมีฉัตร 7 ชั้น พระธาตุหริภุญชัย เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน
บทสวดบูชาพระธาตุหริภุญชัย
สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐเสฎฐัง สะหะอังคุลิฏฐัง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะรัง สีเสนะ มัยหัง ปะณะมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ
ปีจอ (สุนัข) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระบรมธาตุเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ที่พักใกล้เคียง >>
พระธาตุวัดเกตการาม เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ (ฟัน) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำรากล่าวว่า พระเจดีย์ประจำปีจอ คือ พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ ที่ประดิษฐานอยู่ บนสวรรค์ ทำให้มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถไปบูชาด้วยตนเองได้ จึงอนุโลมเป็นพระเจดีย์ที่มีชื่อพ้องกัน คือ พระธาตุวัดเกตการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามประวัติ ว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. 1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลง ในปี พ.ศ. 2121 พระสุทโธ รับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา
บทสวดบูชาพระธาตุเจดีย์เกตุแก้ว
จัตตาฬีสะสะมา ทันตา เกส โลมรา นขาปิจะเทวา หะรันติ เอเกกัง จักกะวาฬาปะรัมปะรา ปูชิตา นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโยฯ
ปีกุน(หมู) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุดอยตุง
ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุดอยตุง ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ที่พักใกล้เคียง >> พระธาตุดอยตุง
เดิมสถานที่ตั้งพระบรมธาตุดอยตุงมีชื่อว่า ดอยดินแดงอยู่บนเขาสามเส้นของพวกลาวจก ต่อมาในสมัยพระเจ้าอุชุตะราช แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เมื่อปีพ.ศ. 1452 พระมหากัสสป ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า มาถวาย พระเจ้าอุชุตะราช มีพระราชศรัทธา ทรงพระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์ ให้เป็นค่าที่ดินดอยดินแดง แก่พวกลาวจก แล้วโปรดฯ ให้สร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว 3,000 วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใดให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง (คำว่า ตุง แปลว่า ธง) เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว บรรจุไว้ให้คนสักการะบูชา ต่อมาสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราชแห่งราชวงศ์ลาวจก พระมหาวชิระโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุ มาถวาย จำนวน 50 องค์ พระเจ้าเม็งรายจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่งเหมือนกับพระสถูปองค์เดิมทุกประการ ตั้งคู่กัน ดังที่ปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้ พระธาตุดอยตุง ถูกกำหนดให้เป็นพระธาตุเจดีย์ของผู้ที่เกิดปีกุน เนื่องเพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์เชียงใหม่ต่างก็ประสูติใน"ปีกุญ" (กุน)
บทสวดบูชาพระธาตุดอยตุง
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาชาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ