นักท่องเที่ยวและผู้สนใจร่วมทำบุญในงาน “ประเพณีใส่บาตรเทียน” ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ณ วัดบุญยืน พระอารามหลวง ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนชาวอำเภอเวียงสา ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2344 หลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัณโญทรงสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี (วัดบุญยืนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2343)
ประเพณีใส่บาตรเทียน เป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกัน เอกลักษณ์ของประเพณีคือการใส่บาตรด้วยเทียน เพื่อส่งเสริมพระวินัยบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่อง การแสดงสามีจิกรรม (การแสดงความเคารพ) ความเคารพระหว่างพระภิกษุผู้มีพรรษากาลอ่อนกว่าต่อพระเถระผู้มีพรรษากาลมากกว่า และเพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมแสดงสามีจิกรรมต่อพระภิกษุที่จะอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส การใส่บาตรด้วยเทียนนั้นเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้มีเทียนไว้จุดบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และพิธีกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ขัดต่อพระวินัยบัญญัติ ประเพณีใส่บาตรเทียน ได้กำหนดพิธีถัดจากวันเข้าพรรษา 1 วัน หรือในวันแรม 2 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี
พิธีจะเริ่มตั้งแต่ภาคเช้า ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป คือ พระภิกษุสามเณรในอำเภอเวียงสา และคณะศรัทธาสาธุชน จะเตรียมเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอม และเตรียมสำรับกับข้าวใส่ปิ่นโตไปด้วย เพื่อเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรที่ไปร่วมพิธี พระภิกษุสามเณรจะมีการเตรียมบาตรและผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าสบงไปปูไว้บนโต๊ะและตั้งบาตรบนผ้าอาบน้ำฝน เพื่อรองรับเทียนที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนใส่บาตรเทียน
ในภาคบ่าย เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ก็จะเริ่มพิธีใส่บาตรเทียน โดยมีพระภิกษุสามเณรนำคณะศรัทธาสาธุชน เดินใส่บาตรเทียนเวียนรอบโต๊ะที่ตั้งบาตรและวางผ้าอาบน้ำฝน เมื่อเสร็จสิ้นพิธีใส่บาตรเทียน ก็จะกลับเข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อทำพิธีสูมาคารวะ (ขอขมา) หรือทำสามีจิกรรม ต่อพระเถระผู้มีอายุพรรษากาลมากเป็นลำดับไป