วัดพันเตา ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ติดกับวัดเจดีย์หลวง วิหารเดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้าของพระเจ้ามโหตรประเทศ เป็นอาคารเครื่องไม้แบบพื้นเมือง ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่ง มองดูวิจิตรและสง่างาม อยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าได้ใช้เป็นที่ตั้งเตาหลอม ในการหล่อพระอัฏฐารสในวิหารวัดเจดีย์หลวง จึงได้ชื่อว่าวัดพันเตา ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2348 สาธุคัมภีระวัดพันเตาได้ถูกยกขึ้นเป็นสวามีสังฆราชาตั้งแต่นั้นมา วัดพันเตาคงมีความสำคัญมาก จนได้เป็นหัวหน้าหมวดอุโบสถ แม้แต่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดใหญ่ก็ยังขึ้นอุโบสถวัดพันเตาด้วย
พระวิหารของวัดพันเตา เป็นสถานที่ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมท้องถิ่น เป็นที่ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปจึงมีผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเข้าชมในวัดพันเตาเป็นจำนวนมาก
ในสภาพแวดล้อมของวัดพันเตา ที่ตั้งอยู่ในกลางเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางการจราจรที่แออัด บริเวณสี่แยกกลางเวียง มีปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ขณะเดียวกันก็มีตึกแถวทางด้านเหนือสร้างสูงกว่าพระวิหารหอคำ พระวิหารหอคำและทัศนียภาพวัดพันเตาจึงอยู่ในภาพที่ถูกบดบังมาโดยตลอด