งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล เป็นงานที่ทางเทศบาลเมืองแสนสุข จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันที่ 16-17 เมษายนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้าน อันดีงามของชาวบางแสน ให้คงอยู่ และเป็นที่รู้จักแพร่หลายตลอดไป โดยเทศบาลฯ ร่วมกับ บริษัทห้างร้านภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐในเขตเทศบาล ได้ร่วมกันจัดงาน ประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ ณ บริเวณชายหาดบางแสน กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประกวดก่อพระเจดีย์ทราย, การทำบุญตักบาตร, สรงน้ำพระพุทธรูป, การละเล่นพื้นบ้าน, รดน้ำสงกรานต์ ตลอดจนการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่นการแข่งขันชักเย่อ, การแข่งขันกินข้าวหลาม, การแข่งขันแกะหอยนางรม, การแข่งขันวิ่งเปี้ยว และการแข่งขันตะกร้อรอดห่วง
ประเพณีวันไหล สำหรับคนไทยในอดีต นิยมสร้างพระเจดีย์ไว้ในวัด ถือว่าพระเจดีย์เป็นปูชนียสถานสำคัญ วัดทุกวัดจึงมีพระเจดีย์อยู่ในวัด ทั้งขนาดองค์ใหญ่ ขนาดองค์กลาง และขนาดองค์เล็ก พระเจดีย์องค์ ใหญ่ที่สุด นิยมสร้างไว้หลังหลังพระอุโบสถ หรือพระวิหารเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ก็เท่ากับได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุด้วย สำหรับประเพณีวันไหล เป็นประเพณีไทย ที่ได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวคือ เป็นการทำบุญในวันเทศการตรุษไทยนั่นเอง
เมื่อถึงประเพณีตรุษไทยนี้ รายละเอียดของกิจกรรมการก่อพระเจดีย์ทราย คือการขนทราย หาบทรายมากองสูงแล้วรดน้ำเอาไม้ปั้น กลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่างๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตรบรรจง เพื่อก่อให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เมื่อก่อเสร็จ พระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงค์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ เสร็จก็เลี้ยงคนที่ไปร่วมงาน ทางวัดก็ได้ทรายไว้ สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัด หรือถมบริเวณวัดต่อไป
พระสงฆ์ซึ่งได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่างๆในเทศกาลตรุษไทย คือ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปกติหลังตรุษไทยไปเล็กน้อยเป็นปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่อยู่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาของวัด ก็จะจัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น วิธีการคือ ขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมให้แข็งอยู่ตามคลอง หนอง บึง เป็นการขนทรายเข้าวัด และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วย เมื่อถึงฤดูฝน น้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ งานก่อพระทรายน้ำไหล เพื่อก่อองค์เจดีย์พุทธบูชา เพื่อทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในเทศกาลตรุษไทย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมนี้มีคุโณปการหลายด้านทั้ง เพื่อความรื่นเริงบันเทิงของ ชาวบ้านด้วยการละเล่นพื้นเมือง เพื่อสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ที่ทำบุญเลี้ยงพระแล้วก็ร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน
ด้วยสภาพของบ้านเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตาม ความเจริญทางวิทยาการสมัยใหม่ การขนทราย, โกยทราย, หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนสภาพเป็น ซื้อทรายเป็นคันรถ งานก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาลตรุษไทย ก็เปลี่ยนสภาพไป วัดต่างๆหลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา คำว่าเจดีย์ทรายก็หมดความหมาย การก่อพระทรายน้ำไหลจึงเรียกสั้นๆลงเหลือเพียง "วันไหล" แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้าน อันดีงามของชาวบางแสนไว้ ให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักแพร่หลายตลอดไป เทศบาลเมืองแสนสุข จึงคงชื่อเรียกประเพณีนี้ไว้ว่าว่า "งานก่อพระทรายวันไหลบางแสน"
ภาพจาก thaimtb.com