กิจกรรม
อบต.บ้านโพธิ์ (รวมพื้นที่ ต.ขนอนหลวง และ ต.บ้านโพ เข้าด้วยกัน) ได้จัดงานตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีของไทยเชื้อสายมอญที่ทำกันเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ที่ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2554 ณ ชุมชนชาวรามัญฯ (วัดทองบ่อ) ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ชาวไทยเชื้อสายมอญในประเทศไทย เป็นลูกหลานชาวมอญที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในดินแดนไทยมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหลักฐานกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2082 และต่อมาอีกหลายระลอก จนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนมอญเหล่านี้ได้รับพระราชทานที่ทำกินหลักแหล่งอาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในหลายพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทย ภายหลังบางกลุ่มก็ขยับขยายไปหาหลักแหล่งใหม่ แต่ก็ยังมักตั้งชุมชนอยู่บริเวณแม่น้ำลำคลองสายใหญ่ เช่น เจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน
ชาวมอญใน อ.บางปะอิน ไม่ทราบแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยใด แต่จากข้อมูลของ อารมณ์ จุลสิกขี เรื่อง มอญบ้านเสากระโดง กล่าวถึงคำบอกเล่าของผู้อาวุโสภายในชุมชนมอญ บ้านเสากระโดง ต.ขนอนหลวง ว่าบรรพบุรุษมาจากเมืองมอญ เข้ามาทางเชียงใหม่ แล้วเดินทางเข้ามาทางเกวียน มาก่อตั้งหมู่บ้าน ในระยะแรกมีอาชีพทำนา ค้าเกลือ เผาอิฐ ในช่วงที่อพยพเข้ามาประมาณปี พ.ศ.2360 หมู่บ้านเสากระโดง เดิมเรียกกันตามภาษามอญว่า “กวานปราสาท” และวัดทองบ่อ ก็มีการเรียกกันแต่เดิมว่า “เพียปราสาท” ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นวัดทองบ่อ และเดิมบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในอดีต เป็นด่านขนอน คือด่านเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่มาของชื่อตำบล “ขนอนหลวง” มีคำบอกเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้เรือสำเภาในการขนส่งสินค้า และเดินทางเกิดเหตุอับปางลงเรือพร้อมเสากระโดงลอยมาติดอยู่แถวหมู่บ้านนี้ จนทำให้ผู้คนผ่านไปมา เรียกหมู่บ้านว่า หมู่บ้านเสากระโดงและชุมชนมอญบ้านโพ ในเขต ต.บ้านโพ นั้นก็ได้ชื่อมาจากคลองโพธิ์ ลำน้ำสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อว่าเนื่องจากมีต้นโพธิ์ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของลำน้ำสายนี้จนเป็นที่มาของชื่อ
ประเพณีท้องถิ่น ถ้าไม่ดัดแปลงเพื่อขายการท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนบรรพชนและความเป็นมาของบ้านเมืองได้อย่างดี
ข้อมูลและรูปภาพจาก thai.tourismthailand.org