งานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่าง เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เริ่มจัดกันมาตั้งแต่สมัยใด การจัดงานแต่เดิมนั้นก็เหมือนกับการจัดงานสงกรานต์ของชาวเหนือทั่วๆไป คือ จะจัดในวันที่ 13 – 18 เดือนเมษายนของทุกปี ระยะแรกๆการจัดงานประเพณีสงกรานต์มีเพียงการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้มีพระคุณ โดยหมุนเวียนสรงน้ำพระวัดละวัน แล้วมีการละเล่นพื้นบ้านในบริเวณวัดนั้นๆส่วนในเวลากลางคืนก็จะมีการละเล่น เช่น สะบ้า ลูกข่าง ช่วงชัย นางกวัก นางด้ง นางช้าง เป็นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวเป็นยิ่งนัก จนมีประชาชนจากหมู่บ้านใกล้เคียง และหมู่บ้านไกลมาเที่ยวมากมาย นอกจากนั้นพื้นฐานของชาวตำบลน้ำอ่างเป็นผู้มีจิตใจเอื้ออารีย์ พอถึงวันสงกรานต์ก็จะเตรียมอาหาร หมากพลูและยาสูบ ไว้คอยตอนรับแขกผู้มาเยือนแม้นคนที่ไม่รู้จักมักคุ้น ถ้ามาเที่ยวงานสงกรานต์น้ำอ่างแล้ว จะได้รับการต้อนรับดั่งเพื่อนสนิทที่จากกันมานาน
ชาวตำบลน้ำอ่างได้รักษาประเพณีอันดีงามอันเอานี้ไว้ เช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆถึงแม้นจะมีวัฒนธรรมอื่นมาสอดแทรกแอบแฝงเข้ามามี บทบาทอยู่บ้างก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติของพี่น้องชาวตำบลน้ำ อ่างได้ จะได้เห็นถึงการแต่งกาย ภาษาพูด ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนับว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น ยิ่งกว่านั้นเมื่อถึงคราวเทศกาลก็จะเอาศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นออกมาเล่นหรือ เอาออกมาแสดงให้ชมในระดับตำบล และชาวต่างบ้านได้ชมกัน นับว่าเป็นการอนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมอันดีตลอดมา
ในปี พ.ศ. 2516 กำนันเตอะ วงศ์หมุด กำนันตำบลน้ำอ่างสมัยนั้น
ผู้ใหญ่เป็ง ชอบธรรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 นายพูนวิทย์ ปานชู ส.ต.ท.อุดม แน่นอน หัวหน้าป่าไม้และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาจารย์ชวน พุ่มวิเชียร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านน้ำอ่าง อาจารย์จรูญ ศิริเจริญ
อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านเหล่า อาจารย์สำเภา เชื้อบาง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านไชยมงคล ได้ร่วมกับกรรมการวัด ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และมีมติกันว่าจะจัดให้ดีขึ้นให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีการพัฒนาเป็นงานบุญประเพณีสงกรานต์ ให้ดีขึ้นโดยเน้นความสนุกสนานรักษาวัฒนธรรมอันดีงามไว้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวตำบลน้ำอ่างเป็นอย่างดี พระครูเทพ เมจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดศรีสะอาดได้จัดงานที่วัดศรีสะอาดเป็นครั้งแรก การจัดงานครั้งนี้กลางวันจัดให้มีการสงน้ำพระ การละเล่นพื้นเมือง เช่น การเล่นสะบ้า ชักคะเย่อ การประกวดฟ้อนรำ มีการจัดขบวนแห่ ขบวนแห่บั้งไฟ การจุดบั้งไฟ แข่งขันเพื่อความสนุกสนาน งานเช่นนี้ไม่สามารถหาดูได้ที่ไหนในจังหวัดอุตรดิตถ์ หนุ่มสาวและผู้เฒ่าผู้แก่ก็ล้วนแต่งกายด้วยเสื้อม่อฮ้อม ผ้าขาวม้าคาดเอว ผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าถุงตีนเก็บหรือตีนจก สะพายถุงย่ามหมากเก็บ(ย่ามหมากเก็บ คือย่ามที่ชาวน้ำอ่างทอขึ้นมาเพื่อใช้เอง ประดับด้วยลูกปัด ลูกแก้วสวยงามมากมีราคาแพง)พอกลางคืนก็จะมีการประกวดเทพีสงกรานต์ของชาวตำบล น้ำอ่างการจัดงานสงกรานต์ปีนี้สนุกสนานเป็นอย่างมาก วัดศรีสะอาดจัดติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปีซ้อน ต่อมาได้มีการหมุนเวียนกันไปทั้งตำบลโดยมีวัดต่างๆ รับเป็นเจ้าภาพเป็นแม่งานใหญ่แต่มีข้อตกลงว่าวัดใดเป็นเจ้าภาพจัดงานวัด อื่นๆ พร้อมกรรมการของแต่ละวัดต้องส่งขบวนแห่ ฟ้อนรำ ขบวนบั้งไฟ ขบวนรำเซิ้งบั้งไฟ ไปร่วมกันทุกครั้ง โดยเริ่มจาก
ในปี พ.ศ. 2539 วัดไชยมงคลได้เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งแรกโดยมีศรัทธาจากทุกวัดในตำบลน้ำอ่าง เข้าร่วมกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ เมื่อวันที่ 16-18 เมษายน 2539 ครั้งนั้นการจัดงานประสบกับภัยธรรมชาติเกิดฝนตกในวันที่ 16-17 เมษายน แต่เมื่อถึงวันที่ 18 เมษายน ฝนก็หยุดตกทำให้การจัดงานประเพณีสงกรานต์ของตำบลน้ำอ่างพบกับอุปสรรคเพียง เล็กน้อย แต่การจัดงานก็สามารถผ่านพ้นไปด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2540 วัดหลวงป่ายางได้เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นเป็นวัดที่ 2 โดยมีศรัทธาจากทุกวัดในตำบลน้ำอ่าง เข้าร่วมกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ของตำบลน้ำอ่างเมื่อวันที่ 16-18 เมษายน ๒๕๔๐ ครั้งนั้นการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ในปี พ.ศ. 2541 วัดดอยแก้วได้เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นเป็นวัดที่ 3 โดยมีศรัทธาจากทุกวัดในตำบลน้ำอ่าง เข้าร่วมกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ เมื่อวันที่ 16-18 เมษายน 2541 ครั้งนั้นการจัดงานประสบกับภัยธรรมชาติเกิดฝนตกในวันที่ 16-17 เมษายนเล็กน้อย แต่พอถึงวันที่ 18เมษายน ในเวลากลางคืนฝนตกอย่างหนักทำให้การจัดกิจกรรม การประกวดเทพีสงกรานต์ ตำบลน้ำอ่างต้องพบกับอุปสรรค ต้องย้ายสถานที่ประกวดเทพีสงกรานต์ไปจัดที่ศาลาการเปรียญแทน ทำให้เกิดความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น และการจัดงานก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2542 วัดศรีสะอาด เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ของตำบลน้ำอ่างเป็นวัดที่ 4 มีทางราชการที่นำโดย นายสมชาย หัทยะตันติ นายอำเภอรอน ได้แจ้งในที่ประชุมประจำเดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ว่าการอำเภอรอน ว่าควรยกฐานะการจัดงานประเพณี สงกรานต์ของตำบลน้ำอ่างให้เป็นงานระดับอำเภอ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ 5 ตำบล ร่วมสนับสนุนจัดขบวนเข้าร่วม แต่เหตุใดไม่ปรากฏการสนับสนุนของของตำบลอื่นๆไม่พร้อม จึงไม่ได้เข้าร่วมงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวตำบลน้ำอ่าง
ในปี พ.ศ. 2543 การจัดงานในปีนี้พบกับอุปสรรคภัยทางธรรมชาติอีกเช่นเคย ทำให้การจัดกิจกรรมและมหรสพไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก จึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมทุกอย่างในเวลากลางคืน แต่ก็หวังว่าในโอกาสหน้าอำเภอตรอนทั้งอำเภอคงสนับสนุนได้สักวัน แต่ก็ดีใจลึกๆ ว่างานระดับตำบลของชาวน้ำอ่างก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นประธานทุกปี
ในปี พ.ศ. 2543 วัดราษฎร์สามัคคีได้เป็นเจ้าภาพจัดงานวัดที่ 5 โดยมีศรัทธาจากทุกวัดในตำบลน้ำอ่างเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ เมื่อวันที่ 16-18 เมษายน การจัดงานในปีนี้การจัดกิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่พบกับอุปสรรคใดๆ และการจัดงานก็ยิ่งใหญ่สมกับเป็นงานระดับตำบลที่เป็นที่กล่าวขานของคนทั่วไป
ในปี พ.ศ. 2544 วัดไชยมงคล ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์อีกครั้งหนึ่งเป็นวัดแรกในรอบใหม่ ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายน ซึ่งทางวัดไชยมงคลได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้การจัดกิจกรรมต่างๆดำเนินไปได้ด้วยดี โดยได้รับแรงใจกำลังศรัทธาจากพี่น้องชาวตำบลน้ำอ่างและได้รับการสนับสนุนจาก บุคคลต่างๆมากมาย ทำให้การจัดงานประเพณีสงกรานต์ของชาวตำบลน้ำอ่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2545 วัดหลวงป่ายางได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่างโดยดำเนินการ จัดงานในวันที่ 16-18 เมษายน จัดการประกวดเทพีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่าง การรำเซิ้งบั้งไฟคณะศรัทธาจากวัดไชยมงคลได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันจุดบั้งไฟคณะศรัทธาจากวัดหลวงป่ายางได้รับรางวัลชนะเลิศ และการจัดกิจกรรมต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2547 วัดศรีสะอาด ก็ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่างอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกำหนดการจัดในวันที่ 16-18 เมษายน ก็สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ไม่พบอุปสรรคและงานก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2548 วัดราษฎร์สามัคคี ก็ได้รับเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง ทางวัดราษฎร์สามัคคีก็จัดให้มีการละเล่นต่างๆในภาคกลางวัน และจัดให้มีกิจกรรมต่างๆในภาคกลางคืน และการจัดงานในครั้งนี้ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่มีอุปสรรคต่างๆ และได้กำลังศรัทธาของชาวตำบลน้ำอ่าง มาช่วยกัน
ในปี พ.ศ. 2549 ทางวัดไชยมงคลก็ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ตำบล น้ำอ่าง โดยดำเนินการจัดงานในวันที่ 12-14 เมษายน จัดให้มีการละเล่นต่างๆในภาคกลางวัน และจัดให้มีกิจกรรมต่างๆในภาคกลางคืน จัดการประกวดเทพีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่าง ซึ่งการจัดกิจกรรมต่างๆสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2550 นี้ วัดหลวงป่ายางได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่างซึ่งกำหนดการจัดในวันที่ 16-18 เมษายน ซึ่งในวันที่ 16-17 งานสงกรานต์ก็ดำเนินกิจกรรมอย่างไปได้ด้วยดีแต่ในวันที่ 18 เมษายน ก็ได้เกิดฝนตกขึ้นมาทำให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปด้วยความทุลักทุเลแต่มันก็ผ่านไปไดด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2551 วัดดอยแก้วเป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่างอีกครั้งหนึ่ง ได้กำหนดจัดงานในวันที่ 16-18 เมษายน งานสงกรานต์ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ไม่พบกับอุปสรรคใดๆ และผ่านไปได้ด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2552 นี้ วัดศรีสะอาดได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสงกรานต์ตำบลน้ำอ่างซึ่งได้กำหนดการจัดงานในวันที่ 16-18 เมษายน และคาดหวังว่างานประเณีสงกรานต์ในปีนี้จะต้องสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา
ภาพจาก wikalenda.com