โดยกลุ่มชาวเลที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตานั้นเป็นกลุ่มอูรักลาโวยจ (อุรักลาโว้ย) ซึ่งมีความเชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษและจิตวิญญาณที่เกี่ยวกับทะเล แม้ว่าภายหลังอาจจะมีการนับถือศาสนาอื่นๆ บ้างตามสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น แต่ก็ยังมีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมดังที่ปรากฏให้เห็นในพิธีกรรมและประเพณีสำคัญ เช่น พิธีกรรมลอยเรือ เป็นต้น
สำหรับ พิธีลอยเรือ (งานลอยเรือชาวเล) หรือ “งานลอยเรืออารีปาจั๊ก” นั้น ถือว่าเป็นงานพิธีสำคัญของชาวเลอูรักลาโวยจ ที่จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดู ในเดือน 6 เป็นการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน และในเดือน 11 เปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูร้อน นั่นเอง (ทางภาคใต้มีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน)
ชาวเลมีความเชื่อว่า การทำพิธีลอยเรือนั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านรอดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลให้ลอยออกไป รวมถึงเป็นการแสดงความขอบคุณที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดฤดูมรสุม โดยใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งชั่วร้ายออกไปแล้วปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ
พิธีขอดาโต๊ะ
ขั้นตอนของการทำพิธีลอยเรือนั้น มีแบบแผนการทำพิธีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยจะต้องเริ่มจากการแต่งตั้งหัวหน้าการจัดงาน 3 คน คนแรกทำหน้าที่ติดต่อกับโต๊ะหมอ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) ว่าจะทำพิธีหรือไม่ คนที่สองทำหน้าที่ประกาศให้ชาวบ้านรู้เพื่อเตรียมตัวร่วมกันจัดงาน คนที่สามทำหน้าที่แบ่งงานให้ชาวบ้าน
วัสดุที่นำมาใช้ในการต่อเรือคือ ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด โดยก่อนจะตัดไม้มาใช้นั้นก็ต้องมีพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน เมื่อได้ไม้มาแล้วก็จะนำมาต่อเรือที่เรียกว่า “เรือปาจั๊ก” เป็นสัญลักษณ์ของยานที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง
โต๊ะหมอผู้ทำพิธี
ตัวเรือปาจั๊กจะถูกแกะสลักอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ประดับประดาอยู่ทั่วตัวเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง "โต๊ะบุหรง" บรรพบุรุษผู้ซึ่งสามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง "โต๊ะบิกง" บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง "โต๊ะอาโฆะเบอราไตย" บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิม
ขนาดของเรือปาจั๊กจะมีความยาว 4-5 เมตร นอกจากลวดลายแกะสลักที่สวยงามแล้ว เรือปาจั๊กก็ยังมีสิ่งของตกแต่งอีกมากมาย เช่น เต่า นก ธง กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งคนที่ต่อเรือก็จะเป็นผู้ชาย ส่วนการตกแต่งตัวเรือให้สวยงามเพิ่มขึ้นด้วยดอกไม้หลากหลายชนิดก็คือผู้หญิง และระหว่างที่ต่อเรือนั้นก็จะมีการเปิดดนตรีคลอไปด้วย
ทำพิธีบริเวณศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว
ระหว่างที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งกำลังต่อเรืออยู่นั้น เมื่อถึงช่วงบ่าย อีกส่วนหนึ่งก็จะไปทำพิธีขอดาโต๊ะ เป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษว่าจะมีการจัดงานลอยเรือ โดยของที่ใช้ทำพิธีก็คือ ขนมเจ็ดสี ไก่สุก ไก่ดิบ เทียนขี้ผึ้ง ข้าวตอก เหล้าขาว หมาก พลู และใบจาก
หลังจากทำพิธีบอกกล่าวบรรพบุรุษแล้ว โต๊ะหมอก็จะทำพิธีดูเทียนเพื่อทำนายว่าปีนี้จะมีปลามีกุ้งเยอะหรือไม่ จะทำมาหากินได้ดีหรือไม่ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ขนมต่างๆ ที่นำมาทำพิธี ชาวบ้านก็จะแบ่งกันกินบ้าง บางส่วนที่เหลือจะนำไปวางไว้ริมน้ำทางทิศตะวันตกเพื่อให้เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าทะเลได้กิน
ประดับตกแต่งเรือให้สวยงาม
เมื่อการต่อเรือและประดับตกแต่งจนเสร็จสิ้นแล้ว วันรุ่งขึ้นในช่วงบ่ายจะมีพิธีสำคัญคือ การแห่เรือ โดยชาวบ้านจะแห่เรือปาจั๊กจากบ้านคลองดาวมาถึงชุมชนโต๊ะบาหลิว ซึ่งเป็นบริเวณที่จะใช้ลอยเรือ ในขบวนแห่เรือมีการแต่งกายสวยงาม มีการเปิดเพลงสร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้าน และเมื่อมาถึงชุมชนโต๊ะบาหลิวแล้ว ก็จะแห่เรือวนรอบศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว 3 รอบ ก่อนจะนำเรือปาจั๊กมาตั้งไว้ที่ริมทะเล
ในคืนนั้นจะมีการร้องรำทำเพลงรอบๆ เรือด้วยจังหวะเพลงรองเง็ง และจะมีการละเล่นสนุกสนานตลอดคืน จนถึงช่วงเวลาใกล้เช้าของอีกวัน ก็ถึงเวลาที่จะนำเรือปาจั๊กออกไปลอยสู่ทะเล ชาวบ้านจะนำข้าวของเครื่องใช้ เศษเล็บ เศษผม ห่อใส่ลงไปในเรือ
แห่เรือรอบๆ ศาลเจ้า
จากนั้นจะนำเรือปาจั๊กบรรทุกลงในเรือลำใหญ่ แล้วลอยออกไปกลางทะเล ก่อนจะนำเรือปาจั๊กลงทะเล ให้ลอยออกไปไกลจากหมู่บ้าน เป็นสัญญาณว่าสิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งไม่ดีต่างๆ ได้ลอยออกไปแล้ว และต่อจากนี้ชีวิตของชาวเลจะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา ทำมาหากินได้ดีตลอดปี