วัดเทพจินดาบ้านเดียม เป็นพุทธสถานมาเเต่โบราณกาล บริเวณอันเป็นที่ตั้งวัดแห่งนี้เดิมเรียกว่า "บ้านเดิม" เพี้ยนมาเป็นบ้านเดียม มีสภาพเป็นเนินป่ารก ริมหนองหานเรียกกันติดปากว่า "ดอนวัดโบราณ" สร้างในยุคสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งหลักปักฐานกันมากขึ้นจึงได้พบสถูปฐานก่อด้วยหินศิลาแลง รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง-ยาว ด้านละ 2 วา 2 ศอก บนสถูปมีพระพุทธรูป 2 องค์ หันหลังพิงกัน องค์แรกทำด้วยหินศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ฟุต สูง 4 ฟุตหันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ที่สองทำด้วยทองใบ ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ฟุต สูง 4 ฟุตครึ่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ข้างสถูปทางทิศตะวันออกเป็นโบสถ์ฐานก่อด้วยหินศิลาแลง รุปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 5 วา ยาว 10 วา สูง 1 วา มีพระพุทธรูปทองใบขนาดเล็กอีกองค์ หน้าตักกว้าง 2 ฟุต สูง 1 ฟุต ครึ่ง ยอดเกษทำด้วยทองคำแท้ ที่สำคัญบนฐานพระพุทธรูปองค์นี้มีอักษร "มคธโบราณ" บันทึกไว้ ความว่า "จุลศักราช 7 ปี เบิกใจ้ เดือน 12 เพ็ง เเสนธัมมา ผัวเมีย แลลูกหลาน พี่น้องมีศรัทธาสร้าง"
หลังจากชาวบ้านได้ค้นพบ โบสถ์เก่าและพระสถูปรูปกระทะคว่ำตั้งอยู่บนตัวโบสถ์และมีพระพุทธรูป ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในช่องประตูของพระสถูปช่องละ 1 องค์ และชาวบ้านทุกคน ต่างพากันช่วยรื้อร้างถางโพงเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์ จนกลายเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ จนถึงปี พ.ศ. 2464 เห็นว่าองค์พระสถูปเดิมนั้นมีต้นโพธิ์ใหญ่และรากของต้นโพธิ์ได้ทิ่ม แทงได้รับความเสียหายผู้คนที่เคารพศรัทธาในเขตใกล้เคียงจึงได้พร้อมใจกันทำการรื้อกระ สถูปองค์เดิมเสีย แล้วมาสร้างใหม่ให้เป็นรูปแบบพระเจดีย์แทน