พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร ในอดีตเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของ
เจ้านายฝ่ายวังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มาแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มหาราช จนเป็นที่มาของชื่อ “ถนนเจ้าฟ้า” ในปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานผลิตเงินเหรียญแห่งใหม่ที่มีความทันสมัย โดยเลือกพื้นที่บริเวณริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้วัดชนะสงคราม ดั้งนั้นจึงต้องรื้อถอนพระตำหนักของ
เจ้านายฝ่ายวังหน้าที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ และพระราชทานเงินค่ารื้อถอนและสร้างวังใหม่ให้แก่เจ้านายทุกพระองค์ เพื่อก่อสร้าง
โรงงานผลิตเหรียญดังกล่าว ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จ ได้รับพระราชทานนามว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ”
โรงงานกษาปณ์สิทธิการ สร้างขึ้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก โดย นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri)
สถาปนิกชาวอิตาเลียนประจำราชสำนักสยามเป็นผู้ออกแบบ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิ่ง
แฮม ประเทศอังกฤษ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือ อาคารหลักด้านหน้าเป็นทรงปั้นหยา สูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้อง
ว่าว สองข้างอาคารหลักต่อเป็นปีกทอดยาว เป็นอาคารชั้นเดียวหักมุมฉากสี่ด้านบรรจบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เชื่อมต่อกัน บริเวณสันหลังคา เชิงชาย ช่องบานประตู หน้าต่างประดับด้วยลวดลายฉลุไม้อย่างงดงาม
การก่อสร้างโรงงานกษาปณ์สิทธิการเสร็จสมบูรณ์และเริ่มดำเนินการผลิตเหรียญครั้งแรกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์
พ.ศ.2445 ใช้งานเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2511 กรมธนารักษ์จึงได้ย้ายไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ โรงกษาปณ์สิทธิการจึงร้าง
ลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย (พ.ศ.2517) กรมศิลปากรได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน
ประเภทศิลปะสมัยใหม่ จึงได้เสนอขอใช้โรงกษาปณ์สิทธิการ เพื่อปรับปรุงให้เป็นหอศิลป ซึ่งกรมธนารักษ์ได้อนุมัติ
มอบอาคารแห่งนี้ให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 เพื่อจัดตั้งเป็น “หอศิลปแห่งชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์
หลัก เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย
พิธีเปิดหอศิลปแห่งชาติอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2520 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
หลังจากนั้นไม่นาน หอศิลปแห่งชาติได้ปิดปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อให้ตรงตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พ.ศ.2504 ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป” และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้า
ชม ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2521
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2526 กรมธนารักษ์ได้มอบอาคารและที่ดินบางส่วนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ทำให้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นทั้งสามารถดำเนินการปรับปรุงขยายพื้นที่อาคารจัดแสดง เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ศิลปินตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เข้าชมได้อย่างครบถ้วนตามหน้าที่
ของพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะระดับชาติดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน