วัดท่าตอนเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2534 ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่ 425 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชัน มีที่ราบริมแม่น้ำกก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงาม จนมีซินแสบางท่าน ยกย่องว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ บนภูเขามังกร เพราะว่า วัดท่าตอนนั้น จะมีพื้นที่ทอดยาวไปตามไหล่เขาเป็นชั้นๆ รวม 9 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้น ก็จะมีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐาน อยู่ทุกยอดเขา และยอดเขาที่เป็นยอดเขาจุดศูนย์กลางและเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดนั้น จะเป็นสถานที่ตั้งและประดิษฐานของ "พระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์" หรือ "พระเจดีย์แก้ว" สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม
วัดท่าตอน เป็นวัดร้างมานานหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ตามตำนานสุวรรณดำแดงกล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ตอนกลางของเชียงใหม่ ประมาณหลังปี พ.ศ. 1700 นั้น เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้มีความเห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839
ห่างจากวัดท่าตอนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า ชื่อ เวียงแข่ ยังคงมีคูเมืองปรากฏอยู่ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยใดนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐาน จากการค้นคว้าคำจารึกในฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุดที่พบในเขตอำเภอแม่อาย (วัดศรีบุญเรือง) จุลศักราช 221 (พ.ศ. 1403 ) พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณที่พบตามวัดร้างในท้องนาและริมแม่น้ำฝาง ซึ่งวัดต่างๆ ในท้องที่เก็บรักษาไว้ บางส่วนขนย้ายไปจังหวัดเชียงราย (วัดมุงเมือง) และส่วนกลาง ( พ.ศ. 2424 คาร์ล บ็อค มาสำรวจเมืองฝางขนไปบ้าง ) แสดงให้เห็นถึงร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ผ่านมาหลายศตวรรษของถิ่นนี้ในอดีต