วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ทรงมีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกและเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ทรงมีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ
พระสุวรรณเขต(หรือหลวงพ่อโต) เป็นพระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี และ
พระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่ สร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน ถัดออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน นอกจากนี้ก็มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาเปรียญ ๙ ประโยค แต่ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเน้นหนักในด้านจิตภาวนา โดยได้ทรงฝึกสมาธิจิต ทั้งสมถะและวิปัสสนาตามแนวทางพระป่ามาเป็นระยะเวลานาน พระองค์ยังได้ทรงรับเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ด้วย
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 เป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2490 คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายก็ประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวัดมหาธาตุ
วัดบวรนิเวศวิหารในปัจจุบัน ยังเป็นที่พักของพระภิกษุนาคหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรูป และยังเป็นสถานที่พำนักระหว่างพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช รวมทั้งเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ครั้งทรง ผนวชอีกด้วย
พระพุทธชินสีห์พระประธานในพระอุโบสถคือพระพุทธชินสีห์ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระยาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย พร้อมๆ กับพระพุทธชินราชที่พิษณุโลกและพระศรีศาสดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างทรงครองวัด ได้โปรดให้อัญเชิญพระศรีศาสดาและพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐสถานที่วัดบวรนิเวศวิหารจนบัดนี้
ระหว่างทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูป วันที่ 5 ธันวาคม 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระพุทธนาราวันตบพิตร
ความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร
ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย วัดบวรนิเวศวิหารถือเป็นวัดที่มีความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สำคัญๆ หลายอย่างถือกำเนิดขึ้น อาทิ
- ความพยายามในการปฏิรูปสงฆ์ไทย ซึ่งทำให้เกิดนิกายธรรมยุตขึ้นมา
- ความพยายามในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ได้แก่ มหามกุฏราชวิทยาลัย สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- ความพยายามในการริเริ่มตรวจชำระคัมภีร์ภาษาบาลี โดย - ความริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ความพยายามในการก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของ จนวิวัฒนาการมาเป็น โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ดังในปัจจุบัน
- ความพยายามในการรื้อฟื้น มหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีวัดบวรนิเวศวิหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ไว้ผลิต ศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่สมัย
- ความพยายามในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐแห่งแรกของประเทศ
- วัดบวรนิเวศวิหาร มีตำหนักเพ็ชรซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน