วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2167 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปูชนียสถานที่สำคัญ คือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ประทับไว้บนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี รอยพระบาทมีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว ลึก 11 นิ้ว ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราว ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาได้มีการสร้างต่อเติมกันอีกหลายสมัย และยังพบรอยจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ สูงจากพื้น 160 เซนติเมตร เมื่อครั้นเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาท
ลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนม พุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับมุกชั้นเยี่ยมของเมืองไทย พื้นภายในปูด้วยเสื่อเงินสาน ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย ซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด เป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตีเป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ส่วนพระอุโบสถ และพระวิหารต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท (วิหารหลวง) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่า อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า พัดยศของพระสมัยต่าง ๆ และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งปกติจัดให้มีปีละ 2 ครั้ง คือตขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงแรม 1 ค่ำ และขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึงแรม 1 ค่ำ