วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ ภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
ตามตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว โดยนางเหมชาลาฒ และพระธนกุมาร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๘๓๔ จึงได้สร้างพระบรมธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช จะก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อสร้างสมความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเช่น สมัยศรีวิชัยได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงศรีวิชัย ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๐ ได้ทรงสร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกาครอบองค์เจดีย์เดิมแบบศรีวิชัยไว้ภายใน
พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครศรีธรรมราช และชาวใต้ทั้งปวง ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประวัติการสร้างตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์เดิมสร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๐๐ สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมาเมื่อได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุลังกา โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้นิมนต์พระภิกษุลังกามาตั้งคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในระยะนั้นพระบรมธาตุองค์เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุลังกาจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกา โดยสร้างพระสถูปแบบลังกาครอบองค์พระเจดีย์เดิม เป็นพระสถูปทรงโอคว่ำปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระบรมธาตุจำลองประดิษฐานอยู่ทั้งสี่มุม
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครศรีธรรมราช ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๓ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองลังกาครั้งที่ ๑ ได้พระพุทธสิหิงค์มา จึงได้ฉลองสมโภชรวมกับพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๓ โดยมีนางพญาเลือดขาวนำเสด็จแทนพระเจ้าจันทรภาณุจากลังกา
พระพุทธสิหิงค์ มีลักษณะทางศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราชที่เรียกกันว่า แบบขนมต้ม ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ในบริเวณวังเจ้านครเก่า ปัจจุบันเป็นศาลากลางจังหวัด เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะบูชาในเวลาราชการทุกวัน