วัดพระแ้ก้ว เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือป่าเยียะ (ป่าไผ่ชนิดหนึ่ง) ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๗๗ ได้พบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก ณ พระเจดีย์หลังพระอุโบสถ วัดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "วัดพระแก้ว" ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑
ตั้งอยู่บน ถนนไตรรัตน์ เป็นวัดที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๗ ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงรายเป็นที่ประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ครบ 90 พรรษา
ประวัติพระแก้วมรกต
ตำนานความเป็นมาของพระแก้วมรกตมีว่า เมื่อ พ.ศ. 1979 สมัยเจ้าสามฝั่งแกนครองนครเชียงใหม่ เจดีย์วัดพระแก้วเมืองเชียงรายต้องอสุนีบาตพังลง มีผู้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งลงรักปิดทองตกลงมาจากเจดีย์ จึงได้อัญเชิญไปไว้ในวิหารหลวง ต่อมารักซึ่งทาปลายพระนาสิกกะเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้ว เจ้าอาวาสจึงได้ขัดสีเอารักและทองที่ปิดออกหมด ปรากฏว่าเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ เจ้าสามฝั่งแกนทราบข่าวจึงอัญเชิญไปเชียงใหม่ แต่ขบวนช้างที่อัญเชิญพระแก้วไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ กลับตื่นวิ่งไปนครลำปาง หมื่นโลกนครจึงขอรับไปประดิษฐานที่นครลำปางถึง 32 ปี ก่อนที่จะอัญเชิญไปเมืองเชียงใหม่ต่อมา