วัดพระแท่นศิลาอาสน์
ตั้งอยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระแท่นศิลาอาสน์เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้น บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่เป็นไม้สักแกะสลักนั้น เดิมเคยเป็นบานประตูวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกมาก่อน นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่เดิมเป็นศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ มี 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตชาววัง - ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก - ก่อสร้าง เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณฝีมือช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปที่แกะจากต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ
พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑปครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระแท่นศิลาอาสน์อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งตั้งมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั้นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น ในทางตำนานมีคติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังประเทศต่าง ๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้ มากบ้าง น้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทย มีปรากฏในพงศาวดารโดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และพระเจ้าบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์
บานประตูวัดพระแท่นศิลาอาสน์บานเก่า ปัจจุบันได้ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2451มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน บานประตูเก่าของพระวิหารเป็นไม้แกะสลักฝีมือดี แกะไม้ออกมาเด่น เป็นลายซ้อนกันหลายชั้น แม่ลายเป็นก้านขด ปลายเป็นรูปภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานมุขที่วิหารพระพุทธชินราช อาจสร้างแต่ครั้ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้าบรมโกศ ทรงมีพระราชศรัทธา ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้นไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ประตูวิหารเก่าบานดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เป็นไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัด ไฟไหม้ครั้งนั้น เหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดี เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหาร ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้