วัดราชบูรณะ พระอารามหลวงในสมัยอยุธยา อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ภายในวัดประกอบด้วยองค์ปรางค์ประธาน ซึ่งล้อมรอบด้วย ระเบียงคต มีพระวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดทางทิศตะวันตกในแนวประธานเดียวกัน
วัดราชบูรณะ โด่งดังมากในเรื่องการขุดพบเครื่องทองมากมายในกรุพระปรางค์ใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาฝนังสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในกรุได้ด้วย
สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499และช่วงชิงทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ในปี พ.ศ. 2499 ขณะที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งภายในวัดมหาธาตุคนร้ายได้ลักลอบขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ได้ของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานอีกครั้งพบเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์แบบต่างๆ และของมีค่าอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
กรุแรกซึ่งอยู่ในระดับบนนั้น เป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 3 เมตร บนฝาผนังมีภาพเขียนสีค่อนข้างเลือนราง แต่ยังพอจับเค้าได้ว่าเป็นชายชาวจีน 3 คน และมีอักษรภาษาจีนปรากฏอยู่
ส่วนกรุชั้นล่างนั้น เป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กพอดีตัวคน เพดานห้องเป็นทรงโค้งครึ่งวงกลม ภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนราง เห็นเป็นพระพุทธเจ้าหลายองค์ พระพุทธสาวก ต้นไม้และนก บางส่วนของภาพปิดทองด้วย
ในกรุทั้งสองนี้บรรจุเครื่องทองจำนวนมากเอาไว้ มีทั้งที่เป็นพระแสงขรรค์ชัยศรีพร้อมปลอกทำจากทองประดับอัญมณีหลากชนิด ด้ามเป็นแก้วผลึกหุ้มทองประดับอัญมณีเช่นกัน พระแสงนี้มีความยาวถึง 115 เซนติเมตร มีเครื่องทองราชูปโภคต่าง ๆ ที่เป็นขนาดเล็กย่อส่วน ทำเป็นรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ซึ่งเปลี่ยนพระขรรค์ได้ ถาดล่วมหมาก ตัวแมลงทับ ผอบธรรมดา และผอบทำเป็นรูปตัวหงส์ มีฝาปิดเปิดได้ และที่เด่นมากที่สุดชิ้นหนึ่งก็คือ ช้างหมอบ โดยงวงชูช่อดอกไม้ทำด้วยทองคำ มีเครื่องประดับร่างกายทั้งทับทรวง กรองพระศอ สังวาล พาหุรัด และทองพระกร และที่น่าดูยิ่งก็คือ เครื่องทองประกอบอัญมณีประดับศีรษะชาย ส่วนของสตรีนั้นถักด้วยเส้นลวดทองขนาดเล็กบาง เป็นเครื่องคลุมเส้นผม มีแบบจำลองพระปรางค์ซึ่งถอดประกอบได้ มีพระสถูปทองคำ มีจารึกบนแผ่นทอง และแผ่นทองดุนนูนรูปบุคคลและสัตว์มงคลนานาชนิด
นอกจากนั้นแล้ว พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้น กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชาเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดแต่งทำบันไดให้ประชาชนสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นภายในกรุได้ด้วย