ประวัติวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สาเหตุความเป็นมาที่วัดนี้ชื่อว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" นั้น ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกขึ้นภายหลังโดยราษฎรในท้องถิ่น สาเหตุที่เรียกเนื่องจากพบเจดีย์จำนวนมากมายหลายแถวภายในวัด
วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมือง โดยดูได้จากแผนที่เมือง อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ราษฎรธรรมดาจะเป็นผู้สร้างขึ้น ดังปรากฏในพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องลองสันนิษฐานดูว่าเป็นของใคร นายเทียนกล่าวว่า วัดนี้เดิมเขาเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพญาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก" ส่วน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสวยงามกว่าวัดอื่นๆ อาจเป็นวัดของกษัตริย์ที่ครองเมืองนี้ และเจดีย์รายอื่นๆ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย น่าจะเป็นวัดที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย
สถาปัตยกรรม
เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆหลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกามด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถงส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้นมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ เจดีย์รายที่มีลักษณะเด่นองค์หนึ่งเรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุ ทำเป็นซุ้มมณฑปมีเรือนยอดข้างบนสูงเป็นซุ้มทางทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกสมัยสุโขทัยที่สวยงามยิ่ง รวมทั้งหมดแล้ววัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเจดีย์รายและอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กันถึงเกินกว่า 30 องค์ สมกับที่ได้ชื่อว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถว นอกจากนั้นยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายนอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ ซึ่งเดิมมีคูน้ำล้อมรอบ ทั้งนี้ภายในบริเวณวัดมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ นำผ้าสีมาพันไว้รอบต้นไม้