วัดโพธิ์ชัยเสมาราม ตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าเมืองแดดสงยาง เป็นวัดเก่าที่ชาวบ้าน ได้นำใบเสมาหินที่ขุดพบมารวบรวมไว้จำนวนมาก มีใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของอีสานเนื่องจากแทบจะไม่พบในภาคอื่นเลย ใบเสมาที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยางมีความโดดเด่น คือ นิยมแกะสลักภาพเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก มีใบเสมาจำลองหลักที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด สลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระเจ้าสุทโธทนะ พระราหุล และนางยโสธราพิมพา เข้าเฝ้าแสดงสักการะอย่างสูงสุดด้วยการสยามพระเกศาเช็ดพระบาทพระองค์พระพุทธเจ้า เรียกเสมาหินภาพ พิมพาพิลาป ซึ่งใบเสมาหลักนี้ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
ใบเสมาฟ้าแดดสงยาง
เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณมีแผนผังคล้ายใบเสมา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ จากการศึกษาบริเวณโนนเมืองเก่าพบว่ามีชุมชนโบราณเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 และเมื่อวัฒนธรรมทรารวดี แผ่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 จึงมีการกระจายตัวมาอยู่นอกบริเวณโนนเมืองเก่า และมีอาศัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาทั้งสองพื้นที่
เมืองฟ้าแดดสงยาง ชาวบ้านนิยมเรียกว่าเมืองเสมา เพราะพบใบเสมาหินทรายจำนวนมากทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง บางส่วนยังอยู่ที่เดิม บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม และบางส่วนอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
ใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยางเป็นใบเสมาศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษ 14-15 มีทั้งแบบสลักลวดลายแยยเรียน การสร้างใบเสมานั้นอาจเพื่อใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ ทางศาลนาหรือเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา โดยรูปร่างใบเสมาอาจแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้ แบบแท่งหินธรรมชาติ แบบแผ่นหิน และแบบแท่งหิน