แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก
เป็นสถานที่ พักผ่อน ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมเพื่อประชาชนในเขตพระนคร และเป็นสถานที่เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติ ศาสตร์แสดงให้เห็นถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่ได้รับอิทธิพล จากยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 การออกแบบคงเอกลักษณ์ เดิมไว้ คือ สถานที่คุมขังลงโทษทัณฑ์ ให้เป็นเอกลักษณ์ของสวน ประกอบด้วยความพิเศษในการอนุรักษ์โบราณสถาน และสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียจากคลองสะพานถ่าน เพื่อนำน้ำผ่านการบำบัดมาใช้รดน้ำต้นไม้ในสวน เป็นการประชาสัมพันธ์คุณค่าของน้ำ และประหยัดค่าใช้จ่าย สวนรมณีนาถจึงแสดงถึงความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีตามพระราชเสาวนีย์
ส่วนพื้นที่ 2
อนุรักษ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนที่ดินและอาคารเรือนจำพิเศษฯ เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 บริเวณหน้าถนนมหาไชยตลอดแนวกำแพงเรือนจำด้านหน้า ตั้งแต่ป้อมริมคลองสะพานถ่านทางทิศตะวันตกถึงแนวป้อมร้านนายเหมือนทางด้านทิศตะวันออก ลึกจากกำแพงเข้าไป 8 เมตร เป็นพื้นที่โบราณสถานรวม 4 ไร่ 11 ตารางวา
ประวัติ
สวนรมณีนาถ หมายความถึง “สวนแห่งพระนางผู้เป็นที่พึ่ง” เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ บริเวณนี้เดิมเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในอดีตเรียก “คุก กองมหันต์โทษ” สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงส่งเจ้ากรมไปดูรูปแบบที่สิงคโปร์มีอายุเก่าแก่ถึง 103 ปี สวนแห่งนี้มีที่มาจากโครงการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยย้ายเรือนจำฯ ออกไป ณ ทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขนในปี 2534 เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และปรับปรุงรื้อถอนอาคาร จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะกลางเมืองหลวงเพื่อสนองพระราชประสงค์ขององค์พระราชินีในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง กระทรวงมหาดไทยมอบให้กรุงเทพมหานครจัดสร้างพร้อมดูแลบำรุงรักษา ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2536