อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านในความองอาจ กล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยซึ่งครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้าง เกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยก ทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่าด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
ความเป็นมาของชื่อ "พระยาพิชัยดาบหัก"
ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน พระเจ้าตากพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย
ในปี พ.ศ. 2313 - 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคูณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก "การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)
ถวายชีวิตเป็นราชพลี
พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหักเมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันท์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์พระเจ้าตากสินฯ และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตน เป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีพระองค์จึงได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางคนี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน
พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป