สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานประวัติศาสตร์
ภายในกำแพงเมือง
วัดมหาธาตุ
เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้าน ไต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
เป็นสถานที่รวบรวม และจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองสุโขทัยและที่ประชาชนมอบให้ บริเวณพิพิธภัณฑ์จะแบ่งส่วนการแสดงโบราณวัตถุไว้เป็น 3 ส่วนคือ
อาคารลายสือไท 700 ปี เป็นอาคารใหม่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม สังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ
อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แสดงศิลปวัตถุในยุคสมัยต่างๆ มากมาย อาทิ พระพุทธรูปสำริด โอ่ง สังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำระบบชลประทานสุโขทัย ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะอยู่ด้านนอกโดยรอบอาคารใหญ่ เป็นที่ตั้งแสดงศิลปะวัตถุโบราณต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่างๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา เป็นต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนละ 30 บาท กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. (055) 612167
ศาลตาผาแดง
เป็นศาสนสถานตามคติศาสนาฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดหักพังลงหมด รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลาที่เป็นรูปเคารพเปรียบเทียบได้กับศิลปะในสมัยนครวัต (ราว พ.ศ. 1650-1720) จัดเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองสุโขทัย
เนินปราสาทพระร่วง
หรือเขตพระราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ เป็นซากอาคารก่อด้วยอิฐ ขุดแต่งบูรณะแล้ว มีฐานบัวโดยรอบทำด้วยปูนปั้น สันนิษฐานว่าเนินแห่งนี้คือที่ตั้งของพระที่นั่ง หรือปราสาท ที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยในกาลก่อน แต่องค์ปราสาทหาชิ้นดีไม่ได้แล้ว เพราะคงจะสร้างด้วยเครื่องไม้ เดี๋ยวนี้มีแต่ซากกระเบื้องมุงหลังคากระจัดกระจายทั่วไป ณ เนินปราสาทแห่งนี้เองที่ได้ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงและพระแท่นมนังคศิลา
วัดตระพังเงิน
(คำว่า "ตระพัง" หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ) เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูมเป็นประธาน บริเวณเรือนธาตุจะมีชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นวิหาร 7 ห้อง ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บริเวณตรงกลางตระพังเป็นเกาะขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ บริเวณตระพังจะมีดอกบัวขึ้นอยู่รอบสระสวยงามมาก
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่องทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูป พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้างๆ ลักษณะ พระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรมและเฉียบขาด ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย
นอกกำแพงเมืองด้านเหนือ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดพระพายหลวง เป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย นักท่องเที่ยว ควรเริ่มต้นชมอุทยานฯ จากจุดนี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสุโขทัยในอดีต
วัดพระพายหลวง
ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ทำด้วยศิลาแลง แบบศิลปะลพบุรี ยังคงเห็นลายปูนปั้นที่ปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าปรางค์มีฐานวิหารเจดีย์ที่ปรักหักพัง ทางด้านประติมากรรม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน นอน ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดแล้วประดิษฐานที่มณฑปและซุ้มเจดีย์
แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง)
อยู่ใกล้วัดพระพายหลวงบริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลก มีลักษณะคล้ายประทุนเกวียน ขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามมีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่นสีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร
วัดศรีชุม
ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และลักษณะของวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระอจนะนั้น สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายต่างๆ ไว้มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่
อย่างนี้ เรื่องนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญและด้านอื่นๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็กๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้และพูดออกมาดังๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม
นอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก
วัดสะพานหิน
โบราณสถานด้านทิศตะวันตกของกำแพงเมืองที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ยสูงประมาณ 200 เมตร มีทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆ จนถึงบริเวณลานวัด มีวิหารก่อด้วยอิฐ มีเสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"
เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า ทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาระหว่าง เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อกักน้ำและชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมืองและพระราชวังในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่
นอกกำแพงเมืองด้านใต้
วัดเจดีย์สี่ห้อง
โบราณสถานที่น่าสนใจคือ เจดีย์ที่เข้าใจว่าเป็นทรงลังกา ที่ฐานมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ขี่ช้าง รูปเทวดาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ถือแจกันดอกไม้ ลวดลายสวยงามมาก
วัดเชตุพน
ศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือมณฑปสร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูป สี่อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปแบบนั่ง ยืน เดิน นอน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการใช้วัสดุทั้งอิฐหินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้างที่ประสานกันอย่างกลมกลืน ได้มีการพบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกในปี พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุธรูปในวัดนี้
นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก
วัดช้างล้อม
เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ
วัดตระพังทองหลาง
ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย