อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร หมายถึงส่วนกว้างของเมือง ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร และกำแพงสูง ๗ เมตร มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ ๖ สระ
ปราสาทเมืองสิงห์ มีจุดมุ่งหมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน จากการขุดตกแต่งของกรมศิลปากรที่ค่อยทำค่อยไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่มาเริ่มบุกเบิกกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓0 จึงสวยงามดังที่เห็นอยู่ในวันนี้ ปราสาทเมืองสิงห์นี้กล่าวว่าสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๘๐) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกชื่อเมือง ๒๓ เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ ศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมือง ปราสาทเมืองสิงห์ นี่เอง และยังมีชื่อของเมือง ละโวธยปุระ หรือ ละโว้ หรือลพบุรี ที่มีพระปรางค์สามยอด เป็นโบราณวัตถุร่วมสมัย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงยุบเมืองสิงห์เหลือแค่ตำบล
โบราณสถาน
โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ สามารถแบ่งได้เป็นเช่นนี้
โบราณสถานหมายเลข
โบราณสถานหมายเลข ๑ สันนิษฐานว่า สร้างเพื่ออุทิศถวายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในนิกายมหายาน ตัวปราสาทตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ประดับลวดลายปูนปั้น ศิลาแลงนั้นได้มาจากเมืองครุฑ ซึ่งเป็นแหล่งตัดหินริมแม่น้ำน้อย ห่างจากเมืองสิงห์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๕ กิโลเมตร ซึ่งการลำเลียงแท่งศิลาแลงมานี้คงจะมาทางน้ำ เช่นเดียวกับการสร้างนครวัด นครธม ที่ลำเลียงมาไกลถึง ๕๐ กิโลเมตร แต่ละแท่งหนักร่วมตัน น่าจะใช้ช้างดันลากจูงจนลงแพแล้วลอยมาตามแควนี้ มาชักลากขึ้นฝั่งแล้วใช้ถมดินเอาก้อนศิลาแลงยกขึ้นไปบนฐานโบราณสถานยังมี โคปุระ(ซุ้มประตู) ระเบียงคต อยู่รอบปรางค์ประธานทั้ง ๔ ทิศบรรณาลัย สร้างเพื่อเก็บคัมภีร์ทางศาสนา และ กำแพงแก้ว
โบราณสถานหมายเลข ๒
โบราณสถานหมายเลข ๒ ยังมีปรางค์ประธาน โคปุระ ๔ ด้าน แต่พังลงมามาก บูรณะได้น้อย สถานที่ขุดพบเทวรูป
โบราณสถานหมายเลข ๓
โบราณสถานหมายเลข ๓ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลง
โบราณสถานหมายเลข ๔
โบราณสถานหมายเลข ๔ อยู่ใกล้หมายเลข ๓ ยังบูรณะอยู่ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งขุดค้นพบทั้งโครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก สร้องคอทำด้วยลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ซึ่งชี้ชัดว่าชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์ เพราะเป็นศพของคนที่ตายมา ๒,๐๐๐ ปีแล้ว คงจะยุคเดียวกับคนในชุมชนบ้านเก่า