ศาลหลักเมืองหลวงนครบาลเพชรบูรณ์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวเพชรบูรณ์ แสดงหลักฐานการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ความเคารพบูชาถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
ประวัติ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเอเชียบูรพา กรุงเทพฯถูกข้าศึกโจมตี ประชาชนต้องอพยพออกต่างจังหวัด จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายย้ายเมืองหลวงไปยังที่ปลอดภัย และได้เลือกเพชรบูรณ์เป็นสถานที่ตั้งเมืองหลวง เพราะเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสมมีภูเขาล้อมรอบมีทางออกทางเดียว ศัตรูรุกรานได้ยาก คณะรัฐมนตรีจึงได้ยกร่างพระราชกำหนดสร้างนครบาลขึ้น ชื่อว่า “พระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และสร้างพุทธบุรี พ.ศ. ๒๔๘๗” ต่อมาวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๗ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำพิธีฝังเสาหลักเมือง จากนั้นมีหน่วยงานต่าง ๆ จากส่วนกลางได้ย้ายมาหลายหน่วยงานเช่น กระทรวงการคลัง ตั้งอยู่ที่ถ้ำฤาษีสมบัติ ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสักเป็นสถานที่เก็บพระคลังสมบัติ โรงเรียนนายร้อย จปร. ตั้งอยู่ที่บ้านป่าแดงอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแสตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ สภาผู้แทนราษฏรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธบุรีพ.ศ. ๒๔๘๗ จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ นครบาลเพชรบูรณ์จึงเป็นอันสิ้นสุดลงหน่วยราชการต่าง ๆ จึงต้องย้ายกลับกรุงเทพฯ