พระธาตุเมืองพระรถ
เป็นเจดีย์โบราณ ก่อด้วยอิฐแดงถือปูน ได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่บ้านโก่ย หมู่ที่ 4 ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
นอกกำแพงเมืองพระรถทางด้านทิศตะวันตก บนเนินดินสูงจากพื้น ประมาณ 2 วา องค์เจดีย์มีฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้าน 3.5 เมตร สูงจากฐาน 3.5 เมตร เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุอิฐิ หรือ "พระธาตุ" ของเจ้าเมื่องหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผู้มากราบไหว้ไม่ขาดสาย ด้วยเหตุที่หมู่บ้านตั้งอยู่หน้าพระธาตุ ทำให้หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิสตะวันออกของ พระธาตุ ได้ชื่อว่า "บ้านหน้าพระธาตุ" และเปลี่ยนเป็น ตำบลหน้าพระธาตุ และใช้เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้
ประวัติเมืองพระรถ
เมืองพระรถเป็นชุมชนเมืองโบราณ อยู่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม อยู่ห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 1 กิโลเมตร ไปทางถนนพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองด้านทิศตะวันออก จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ เชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี(ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16)และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18) เมืองพระรถ จัดว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างที่สูงและที่ลุ่มมาบรรจบกัน บริเวณรอบเมืองเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวแบบทดน้ำ มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ลำน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองพระรถ ได้แก่ คลองสระกลาง คลองหลวง คลองพานทอง คลองสระกลางไหลมาทางด้านทิศใต้ ผ่านตัวอำเภอพนัสนิคมและวัดเกาะแก้ว มายังคูเมืองพระรถด้านตะวันออกเรียกว่า คลองเมือง ดังนั้นเมืองนี้จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมท้องถิ่น เพราะมีลำน้ำต่าง ๆ เชื่อมต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ เช่น เมืองศรีมโหสถ