วัดขุนสมุทรจีน อยู่ในเขตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ติดกับปากอ่าวทะเล
เนื่องจาก วัดแห่งนี้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ น้ำท่วม รอบตัวโบสถ์ยังมีร่องรอยของน้ำทะเลท่วมอยู่ ซึ่งทางวัดไม่ได้ปรับแต่งอะไร ยังคงสภาพเดิมไว้ตลอด เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้มาเที่ยวชมและศึกษาความเป็นมาของวัดขุนสมุทรจีนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
การเดินทางมายังวัดขุนสมุทรจีน ไม่ได้อยากอะไรมากเพียงเดินทางมาจนสุดทางของสามแยกพระสมุทรเจดีย์ แล้วเลี้ยวขาวไปตามทางเรื่อยๆ จะมีป้ายบอกทางอยู่เป็นระยะ ต้องสังเกตุหน่อยนะ จนขับรถมาถึง ป้ายท่าเรือป้ารี่ ป้ายตัวใหญ่ๆ เลย เพื่อลงเรือไปวัดขุนสมุทรจีน
ในอดีตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนชายฝั่งที่หากินกับทะเล พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ทุกคนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีเพียงที่ปลูกบ้าน ที่อยู่อาศัยก็เพียงพอแล้ว “ผู้คนที่นี่มีแต่ที่อยู่อาศัย ซึ่งก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะแค่ออกไปหาหอย หาปู หาปลา ก็พออยู่พอกินซึ่งถือว่าเพียงพอ ตกวันละ 200-300 บาท วันไหนได้น้อย 50-60 บาทก็ไม่ขาดทุนเพราะไม่ได้ลงทุนอะไร ทำให้ไม่มีต้นทุน ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ต้องใช้น้ำมัน พูดง่ายๆ คือใช้มือเก็บสัตว์น้ำนั่นเอง” แต่ปัญหาใหญ่สุดที่ชาวบ้านและผู้ใหญ่สมรต้องเผชิญอยู่ก็คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกทีเนื่องจากภูมิศาสตร์องศาระนาบของพื้นทะเลของที่นี่อยู่ในเกณฑ์ที่ชันมาก
เมื่อถามว่าปัญหาการกัดเซาะได้เริ่มขึ้นช่วงไหน ผู้ใหญ่สมรได้บอกไว้ว่า เริ่มมาตั้งแต่อดีตแล้วมันเป็นภัยธรรมชาติ โดยดูได้จาก ลึกลงไปในทะเลบริเวณ 2-3 เมตรก็มีการขุดพบชุมชนโบราญชุมชนหนึ่งซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า มีการกัดเซาะชายฝังหรือแผ่นดินมายาวนานกันเลยทีเดียว ยังมีภาพถ่ายในอดีตในสมัยที่ผู้ใหญ่สมร ยังสาวๆ นั้นจะพบว่าชายฝั่งทะเลอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า หลังหมู่บ้านก็จะเป็นวัดขุนสมุทราวาส ซึ่งห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณกิโลเมตรกว่าๆ และจากหมู่บ้านนั้นก็ห่างจากชายฝั่งปัจจุบันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ในปัจจุบันนี้วัดขุนสมุทราวาสได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะไปแล้ว จากเนื้อที่วัดเป็น 100 ไร่ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 -6 ไร่ เมื่อรวมระยะการกัดเซาะที่เปรียบเที่ยบพื้นที่จากอดีตที่มีหลักฐานภาพถ่ายก็พบว่าน้ำทะเลได้กัดเซาะเข้ามาเป็นระยะกว่า 5 กิโลเมตรแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่าเคยมีการกัดเซาะมากกว่า 10 กิโลเมตรในอดีต “นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวเสาไฟฟ้าที่อยู่ไกลๆ ในทะเลนั่น เมื่อก่อนปักบนดินนะ ตอนนี้แผ่นดินหายหมดแล้วเหลือแต่เสาไฟฟ้าซึ่งห่างจากตลิ่งตั้ง 2 กิโลเมตร” ผู้ใหญ่สมรได้เปรียบเทียบระยะการกัดเซาะให้เราฟัง
สาเหตุหลักของการกัดเซาะ ผู้ใหญ่สมรบอกไว้ว่า โดยหลักใหญ่แล้วเกิดจากธรรมชาติและภูมิศาสตร์ของชายฝั่งเอง ส่วนที่มีผู้บอกว่าเกิดจากตัดไม้ทำลายป่าและทำบ่อเลี้ยงกุ้งของชาวบ้านในพื้นที่นั้นเป็นความจริงบางส่วน อย่าลืมว่าการตัดไม้ในพื้นที่นั้นเป็นการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ได้สอนเราว่า เวลาตัดไม้ไปใช้ให้แบ่งป่าไม้ออกเป็นแปลงๆ อย่าตัดทีเดียวหมด เมื่อตัดแปลงที่หนึ่งแล้วให้ปลูกเสริมรอโต ในขณะที่เราตัดแปลงที่สองและที่สามได้อีก และเมื่อแปลงที่หนึ่งโตแล้ว เราก็หมุนเวียนมาตัดใหม่อีก และอีกอย่างหนึ่งก็คือป่าถูกทำลายโดยน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามา ชาวบ้านถึงไปตัดไม้ที่มันล้มอยู่ ส่วนการทำนากุ้งนั้น อย่าลืมว่าเราไม่มีที่ทำกิน ดังนั้นการทำบ่อเลี้ยงกุ้งจึงเป็นของนายทุนซึ่งเราไม่สามารถไปยับยั้งได้ แต่ปัจจุบันนี้นากุ้งในเขตพื้นที่ของขุนสมุทรจีนไม่มีแล้วเนื่องจากพื้นที่ถูกกัดเซาะไปหมด