บึงฉวาก สุพรรณบุรี
บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ หรือประมาณ 2.48 ตารางกิโลเมตร ของบึงฉวากนั้น สมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ไม้น้ำนานาชนิด นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัวพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บัวแดง บัวหลวง บัวเผื่อน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัยของนกน้ำมากมาย ถ้านับตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2525 ที่กำหนดให้พื้นที่ของบึงฉวาก เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีจำนวนถึง 58 ชนิด บึงแห่งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณบึง ได้พึ่งพาบึงฉวากเพื่อดำรงชีวิตมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร ด้านต้นทุนแหล่งอาหารต่างๆ
ระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนลาดยางรอบตัวบึงได้กั้น และแบ่งให้รู้ว่าตรงไหนเป็นเขตบึง ตรงไหนเป็นที่ของชาวบ้าน ปัญหาการบุกรุกบึงสาธารณะแห่งนี้หมดไปทันที การขุดลอกตัวบึง กรมชลประทานนั้นทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้สามารถเพิ่มระดับน้ำใต้ดินนำไปสู่การเกษตรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เกิดแหล่งอาหารโปรตีนอย่างมากมายจากปลาในบึง ที่สำคัญที่สุด เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี คือ “บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ"
บึงฉวาก ครอบคลุมพื้นที่ของ 2 อำเภอ 2 จังหวัด 4 ตำบล 5 หมู่บ้าน ตามลำดับ ดังนี้
ทางด้านทิศใต้ ไปจรดทิศตะวันออก เป็นบ้านแหลมสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจรดทิศเหนือ เป็นบ้านแหลมหว้า หมู่ที่ 9 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ทางด้านทิศเหนือ เป็นบ้านท่าทอง หมู่ที่ 5 ของตำบลปากน้ำ อำเภอเดิมบางบางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ตั้งแต่ทิศเหนือไล่ลงมาจรดทิศตะวันตก เป็นบ้านหัวกะวังหรือหัวรวัง หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
ด้านทิศตะวันตกไปจรดทิศใต้ เป็นบ้านฉวาก หมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ในวันนี้ แม้บึงฉวากจะมีภาพพื้นที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตามโครงการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 แล้วก็ตาม แต่วิถีชีวิตของผู้คนสุพรรณบุรี และชัยนาทรอบๆ บึง ยังคงผูกพัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกันระหว่างชุมชนกับบึงฉวาก เหมือนเช่นที่ผ่านมา การเติบโต และพัฒนาขึ้นของบึงฉวากจึงเท่ากับเป็นการกระชับความร่วมมือ และดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชน ในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติของเรา ให้มั่นคงด้วยความเอาใจใส่มากขึ้น สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ ให้กับประชาชนรอบบึงมากขึ้น
ทุกย่างก้าวแห่งการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จึงเป็นไปเพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง...