วัดจอกตอจี- สถูปโบราณ
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าด้วยพร้อมเจ้านายและเชลยชาวไทยอื่น ๆ พม่าได้ให้สร้างหมู่บ้านอยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ และพระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด
ในปัจจุบัน หมู่บ้านดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีอยู่ มีชื่อว่า เมงตาสึ แปลว่า เยี่ยงเจ้าชาย และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฏถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย
เมื่อปี พ.ศ 2540 พม่าขุดพบ พระบรมสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร บริเวณสุสานล้านช้าง อมรปุระ(Amarapura) เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ไม่ไกลจากสะพานไม้สักอูเบ็ง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการพิจารณารูปพรรณสัณฐานไม่ได้ว่าเป็นแบบมอญ หรือพม่า คนเฒ่าคนแก่ในย่านนั้นก็เรียกสถูปนี้ว่า โยเดียเซดี (Yodia Zedi) แปลว่า สถูปอยุธยา แต่ข้อห้ามของทางการพม่าที่ไม่ให้ขุดค้นหลักฐานโบราณคดีในสถูป ทำให้กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่รอการพิสูจน์ทางโบราณคดีต่อมา รัฐบาลพม่าได้อนุมัติให้คณะทำงานโครงการขุดค้นทางโบราณคดีของไทยร่วมกับนักโบราณคดีพม่าเข้าพื้นที่บริเวณสุสานเพื่อร่วมกันค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถูปดังกล่าว เมื่อสำรวจพบว่าไม่มีสิ่งใดบรรจุอยู่ในสถูป แต่ไปพบอัฐิธาตุซึ่งบรรจุอยู่ในโกศซึ่งมีลักษณะคล้ายบาตร อยู่บนพานแว่นฟ้าที่บริเวณสถูปตรงข้ามกันกับสถูปที่สันนิฐานไว้