ประวัติแม่ฮ่องสอน
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเพียงชุมชนบ้านป่า มีชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนม่าร์ ในอดีตความสำคัญของพื้นที่ส่วนนี้เป็นเพียงช่องทางที่กองทัพเมียนม่าร์ในอดีตเดินผ่านเพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยเท่านั้น
จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2374 เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 มีนามว่า พระเจ้ามโหตรประเทศ ได้รับมอบหมายให้เจ้าแก้วเมืองมาเป็นแม่กองนำไพร่พลช้างต่อ และหมอควาญออกมาสำรวจสถานการณ์ชายแดนด้านตะวันตก พร้อมกับให้จับช้างป่าไปใช้งานที่นครเชียงใหม่เจ้าแก้วเมืองมาเดินทางมาพบหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งมีทำเลดีเหมาะสำหรับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่มีดินโป่งและหมูป่ามากินดินโป่งชุกชุม จึงทำการตั้งหมู่บ้านและเรียกชื่อหมู่บ้านโป่งหมู ต่อมาเพี้ยนเป็นปางหมู
แล้วให้ชาวบ้านไทยใหญ่เลือกผู้นำหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เลือก พะกาหม่อง เป็นผู้ครอง หลังจากตั้งหมู่บ้านได้ พะกาหม่องก็ร่วมเดินทางมากับเจ้าแก้วเมืองมา เพื่อคล้องช้างทางทิศใต้ของหมู่บ้าน จนได้ช้างป่าปริมาณเพียงพอจึงรอนแรมมาถึงหมู่บ้านอีกแห่ง มีชัยภูมิพื้นที่รวมทั้งมีร่องน้ำเหมาะแก่การฝึกช้างป่า จึงหยุดไพร่พลฝึกช้างและก่อนจะเดินทางกลับเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งให้แสนโกมบุตรเขยของพะกาหม่องเป็นผู้ใหญ่บ้าน และตั้งหมู่บ้านว่าแม่ร่องสอน ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่มีร่องน้ำฝึกช้าง โดยปกครองของพะกาหม่องและแสนโกมขึ้นอยู่กับเชียงใหม่มาตลอด ต่อมาเพี้ยนเป็นแม่ฮ่องสอน จนถึงปัจจุบันจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2399 เกิดการสู้รบในเขตประเทศเมียนม่าร์ ทำให้ชาวไทยใหญ่จากเมืองจ๋ามก่าและเมืองหมอกใหม่อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านปางหมูและแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้น ผู้อพยพครั้งนั้นมีบุคคลสำคัญ 2 คน คือ เจ้าฟ้าโกหล่านและชานกะเล หลังจากหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ชานกะเลซึ่งเป็นคนขยันขันแข็ง ได้ช่วยงานอยู่กับพะกาหม่อง จนเป็นที่รักใคร่ของพะกาหม่อง จึงได้ยกบุตรสาวคนรองชื่อ นางใส ให้เป็นภรรยา ชานกะเลได้นำครอบครัวลงใต้มาอยู่ที่เมืองกุ๋นลมหรือขุนยวมปัจจุบัน ด้วยความเฉลียวฉลาดและความเป็นผู้นำที่ดี ชาวบ้านจึงยกย่องให้ชานกะเลเป็นผู้ปกครองเมืองกุ๋นลมเป็นคนแรก ต่อมานางใส ภรรยาถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่านจึงได้ยกหลานสาวชื่อ เจ้านางเมี๊ยะ ให้เป็นภรรยาชานกะเลปกครองเมืองกุ๋นได้เจริญรุ่งเรือง มีการค้าขายไม้สักกับพม่า สามารถส่งค่าตอไม้ให้เจ้านครเชียงใหม่จำนวนมากจนกระทั่งปี พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิชยานนท์ได้เห็นความสามารถของชานกะเล จึงแต่งตั้งให้ชานกะเลเป็นพญาสีหนาทราชาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน พญาสีหนาทราชาถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2427 เจ้านางเมี๊ยะภรรยาได้ปกครองเมืองสืบต่อมาพร้อมกับมีการเปลี่ยนผู้ปกครองหลายคน
จนถึงปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวมใต้ (แม่สะเรียง) และเมืองปาย ตั้งเป็นเชียงใหม่ ตะวันตก พ.ศ. 2446 เปลี่ยนชื่อเป็นบริเวณพายัพเหนือ ขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ และตั้งที่ว่าการเมือง แม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ.2453
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ยกฐานะเมืองแม่ฮ่องสอนจังหวัดแม่ฮ่องสอนและโปรดเกล้าให้พระศรสุราช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก จนถึงปี พ.ศ. 2476 จึงได้โอนมาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยจนถึงปัจจุบัน สัญลักษณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงนำต้นกำเนิดคือร่องน้ำสอนช้าง เป็นตราช้างตัวเดียวเล่นน้ำที่ตั้งและสภาพพื้นที่