วัดบ้านหลุก สร้างในปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดหลักประจำหมู่บ้านที่มีเสนาสนะสมบูรณ์ทั้งพระวิหาร และหอพระไตรปิฎกหรือหอธรรม ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือสร้างด้วยไม้ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูงเชื่อมต่อด้วยกุฏิที่เป็นเรือนไม้ การเข้าไปยังห้องเก็บพระไตรปิฎกจะต้องใช้บันไดปีนพาดขึ้น จึงไม่ปรากฏว่ามีการสร้างบันได
ภายนอกอาคารประดับประติมากรรมแกะสลักไม้เป็นรูปท้าวจตุโลกบาลอยู่ทั้ง 4 มุมอาคาร ซึ่งเป็นคติความเชื่อและแนวคิดของการสร้างหอธรรม หลังคามุงกระเบื้องที่เชิงชายประดับแป้นน้ำย้อย ที่สันหลังคาประดับนกหัสดีลิงค์แกะไม้ประดับกระจกจืน หน้าบันแกะสลักไม้และประดับกระจกจืน เช่นกัน ป้านลม ช่อฟ้าทำจากไม้บุด้วยทองเหลืองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในศิลปะแถบลุ่มน้ำปิง (เชียงใหม่-ลำพูน) หน้าต่างใช้การเขียนลายบนชาด เป็นลายเทวดาเดินประทักษิณ ภายในหอหอธรรมชั้นบนมีหีบธรรมบรรจุพระไตรปิฎกแบบใบลานซึ่งเป็นหีบธรรมโบราณที่เหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีพระอุโบสถแยกออกจากจากเขตพื้นที่ของวัดไปตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 เมตร ก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง สภาพค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมมากเนื่องจากปูนที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นปูนขาวแบบโบราณ