หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดนครพนม ใช้แรงงานนักโทษในการก่อสร้างโดยใช้แปลนของศาลากลางจังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบ เริ่มสร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2458 ในสมัยที่พระยาพนมนครานุรักษ์(อุ้ย นาครทรรภ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก) แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2462
ลักษณะสถาปัตยกรรม ตัวอาคารใช้แบบแปลนของศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีลักษณะเป็นตึกสองชั้นครึ่ง ก่ออิฐถือปูนไม่มีเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆเป็นไม้ รูปทรงอาคารเป็นแบบตะวันตก ช่างควบคุมงาน คือ นายสุมังค์ ปทุมชาติ อดีตปลัดอำเภอ มีช่างชาวญวน คือ นายก่าย เป็นหัวหน้า ใช้แรงงานนักโทษในการก่อสร้าง
ปี พ.ศ.2483 ในสมัยที่พันตรีขุนทยานรานรอน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสระดมปืนใหญ่ยิงจากเมืองท่าแขกข้ามแม่น้ำโขงมาทำลายเมืองนครพนม ทำให้ตัวอาคารด้านหน้าบริเวณชั้นสองถูกลูกปืนใหญ่เสียหายเป็นกว้างประมาณ 1 เมตร และมีรอยร้าวหลายแห่ง
ปี พ.ศ.2519 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา
หลังจากนั้นมาศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) ก็ได้รับการปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมมาโดยตลอด จนกระทั่งจังหวัดได้รับงบประมาณในการก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ และใช้แทนหลังเก่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 จากนั้นใช้เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ตั้งแต่ พ.ศ.2523 – 2533 ต่อมากรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ดูแล จึงได้ปรับปรุงซ่อมแซม และใช้เป็นที่ทำการของหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม สังกัดหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.2536 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2540 อาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทรางวัลอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมในด้านอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ.2550 กรมศิลปากร ได้อนุมัติงบประมาณให้บูรณะหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม จนแล้วเสร็จสมบูรณ์