ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย เป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ที่จัดแสดงพันธุ์ปลาต่างๆ ทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติ ครม. ครั้งที่ 44/2546 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 เพื่อตอบสนองต่อเป้าประสงค์ในการเป็นศูนย์กลางการศึกษา การวิจัยด้านการประมง การรวบรวมพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง ตลอดจนการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำในมิติของการบูรณาการ และตอบสนองในการเป็นเมืองท่องเที่ยว เริ่มการก่อสร้างเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 และแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เริ่มทดลองเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552
รายละเอียดการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ในการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งสิ้น 4,840 ตารางเมตร จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเป็น 9 กลุ่ม 18 ระบบ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 จำนวน 1 ระบบ ขนาด 1 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาทะเลที่อาศัยตามแนวปะการัง เช่น สินสมุทร ผีเสื้อ การ์ตูน สลิดหิน เฉียว ขี้ตังเบ็ด ตะเภาม้าลาย ฯลฯ จำนวนรวม 35 ชนิด
กลุ่มที่ 2 จำนวน 2 ระบบ ขนาด 2 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ช่อนทะเล กุดสลาด เก๋า กะรัง ข้าวเม่าน้ำลึก กระรอกลายแดง ฯลฯ จำนวนรวม 19 ชนิด
กลุ่มที่ 3 จำนวน 2 ระบบ ขนาด 2 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาทะเลมีพิษและสัตว์ทะเล เช่น สิงโตครีบจุด วัวมงกุฎ กัดทะเล ปูเสฉวน ปูดำ ม้าน้ำ กุ้งมังกร ดาวทะเล ฯลฯ จำนวนรวม 14 ชนิด
กลุ่มที่ 4 จำนวน 2 ระบบ ขนาด 2 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำกร่อย เช่น กระบอก กะพงขาว ค้างคาว ตะกรับ จวดหน้าม้า ปักเป้าซีลอน ฯลฯ จำนวนรวม 12 ชนิด
กลุ่มที่ 5 จำนวน 4 ระบบ ขนาด 11 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาลุ่มน้ำโขง เช่น บึก เค้า สวาย เทโพ เทพา เผาะ ตะเพียนทอง นวลจันทร์ ฯลฯ จำนวนรวม 21 ชนิด
กลุ่มที่ 6 จำนวน 2 ระบบ ขนาด 3 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ เช่น พาคู กดลายเสือ อะราไพม่า ยี่สกเทศ กดหางแดง ออสการ์ อลิเกเตอร์ ฯลฯ จำนวนรวม 15 ชนิด
กลุ่มที่ 7 จำนวน 1 ระบบ ขนาด 1 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงามและปลาโบราณ เช่น หางไหม้ หมูข้างลาย หมูค้อ กาแดง ตะพัด สะตือ กราย ตองลาย ฯลฯ จำนวนรวม 10 ชนิด
กลุ่มที่ 8 จำนวน 1 ระบบ ขนาด 1 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาที่มีอวัยวะหายใจพิเศษ เช่น ชะโด หมอไทย หมอช้างเหยียบ ดุกด้าน กระดี่ แรด ฯลฯ จำนวนรวม 8 ชนิด
กลุ่มที่ 9 จำนวน 3 ระบบ ขนาด 3 ชุดกรอง จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด โดยจัดแบ่งเป็นปลาหนัง เช่น กดแก้ว กดเหลือง แค้ เทพา เทโพ บึก สวาย เค้า เนื้ออ่อน นาง แขยง และปลาเกร็ด เช่น ตะเพียนทอง กระมัง แก้มช้ำ กระสูบ บู่ทราย ซิวควาย นางอ้าว ยี่สกไทย กาดำ ชะโด ฯลฯ จำนวนรวม 31 ชนิด